“ช้อปช่วยชาติ”



ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน      เรื่อง “ช้อปช่วยชาติ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2560 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ    รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยปัจจุบันและมาตรการลดหย่อนภาษีในการซื้อสินค้าและบริการ หรือ “ช้อปช่วยชาติ” การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling)  เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0   และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน ร้อยละ1.4

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยปัจจุบันว่าดีขึ้นหรือยัง เมื่อเปรียบเทียบกับ      ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2559) พบว่า ประชาชน ร้อยละ 1.76 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยดีขึ้นมาก ร้อยละ 24.96 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดีขึ้น ร้อยละ 19.36 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดีขึ้น ร้อยละ 28.40 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้นเลย ร้อยละ 19.68 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยแย่กว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 4.32 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยเหมือนเดิมไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุ / ไม่แน่ใจ / เฉย ๆ     

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการลดหย่อนภาษีในการซื้อสินค้าและบริการ หรือ “ช้อปช่วยชาติ” โดยให้นำรายจ่าย จากการซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 11 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2560 มาหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 15,000 บาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่  ร้อยละ 30.64 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2560 รองลงมา ร้อยละ 26.08      ระบุว่า เป็นมาตรการที่ใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่มั่นคง ไม่มั่งคั่ง และไม่ยั่งยืน ร้อยละ 15.76 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะคนที่ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ เช่น เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

ร้อยละ 15.36 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ร้อยละ 9.44 ระบุว่า ไม่สนใจ ร้อยละ 7.44     ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร ร้อยละ 7.12 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม     เพราะเป็นการกระตุ้นให้ร้านค้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอยาก เข้าสู่ระบบในอนาคต ร้อยละ 6.88 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงคือผู้ค้ารายใหญ่เท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สินค้าชุมชน จะไม่ได้รับประโยชน์ ร้อยละ 1.76 เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม เพราะไม่ต่างอะไรจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 0.80 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีรายสูง ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้เพิ่มวงเงินส่วนที่นำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเพิ่มระยะเวลาในการช้อปช่วยชาติให้มากกว่านี้

               

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการไปช้อปช่วยชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่  ร้อยละ 45.36 ระบุว่า ไม่ไป เพราะ มีรายจ่ายประจำเดือนอยู่แล้ว คิดว่าไม่มีความสำคัญเท่าไหร่ คิดว่าไม่ได้เป็นการช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น รายได้กับรายจ่ายไม่สมดุล ลดหย่อนภาษีได้ไม่มากพอ ไม่ได้เกิดผลอะไรเท่าที่ควร ระยะเวลาช้อปช่วยชาติน้อยเกินไป เป็นมาตรการที่ทำให้ประชาชนเกิดกิเลสกับสินค้าที่ลดราคาในช่วงนั้น ไม่มีเวลาว่าง ไม่มีเงินไปซื้อ ไม่ได้อยู่ในคุณสมบัติที่ต้องจ่ายภาษี ห่างไกลจากบ้านมาก ไม่สะดวก ส่วนใหญ่ซื้อของในหมู่บ้านมากกว่า รองลงมา ร้อยละ 41.12     ระบุว่า ไป เพราะ ต้องไปใช้สิทธิของตนเอง เป็นสิ่งของที่จำเป็นต้องซื้ออยู่แล้ว และได้รับการลดหย่อนภาษีด้วย เป็นโครงการที่ช่วยชาติดีมาก     จะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น สินค้าราคาถูก มีการลดราคาสินค้าช่วยลดภาษีได้เยอะ และร้อยละ 13.52 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

             

   เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.04 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.68 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.68 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.24 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 50.32 เป็นเพศชาย ร้อยละ 49.52 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก

ตัวอย่าง ร้อยละ 7.04 มีอายุไม่เกิน  25 ปี ร้อยละ 18.32 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 23.68 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.32 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 15.76 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.88 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 90.40 ระบุว่า นับถือศาสนาพุทธ  ร้อยละ 3.92 ระบุว่า                 นับถือศาสนาอิสลาม  ร้อยละ 0.96 ระบุว่า นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 4.72 ไม่ระบุศาสนา        ตัวอย่าง ร้อยละ 25.76 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 63.76 สมรสแล้ว ร้อยละ 5.44 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 5.04   ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ