นายกฯ ขอชาวสวนยาง อย่าเข้ากรุงชุมนุมประท้วง



เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 17 พ.ย.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า ในการทำงานของรัฐบาลนี้ และ คสช. เรามุ่งเน้นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ แล้วเราจะต้องดำเนินการเชิงรุก เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ให้แก้ไขได้อย่างยั่งยืน ช่วงที่ผ่านมานั้น หลายปัญหา รัฐบาลก็ได้ดำเนินการแก้ไข ด้วยมาตรการระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็ทำควบคู่ไปกับมาตรการระยะกลาง มาตรการระยะยาว เพื่อจะแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา ไม่ให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา เรื่องน้ำท่วม ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ วันนี้เราต้องพูดคุยกัน ด้วยเหตุผลบนข้อเท็จจริง อย่างเปิดเผย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง เหมือนอย่างที่ตน และรัฐบาลเข้าใจ

สำหรับปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือราคายางพาราตกต่ำ เราจำเป็นต้องเข้าใจในภาพรวม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาไปในแนวทางที่จะร่วมมือกันได้ เรื่องที่ 1.ราคายางธรรมชาติ และยางสังเคราะห์ เกี่ยวโยงกับสถานการณ์มากมาย เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งสะท้อนต้นทุนการผลิตยางสังเคราะห์ สามารถใช้ทดแทนยางธรรมชาติได้ เช่น ช่วงปี 40-48 น้ำมันราคาแพง ทำให้ราคายางสังเคราะห์แพงตามไปด้วย ส่งผลให้หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย หันไปส่งเสริมให้ปลูกยางพาราในประเทศ เพื่อลดการนำเข้ายางสังเคราะห์ แต่พอราคาน้ำมันลด ราคายางสังเคราะห์ก็ลดตาม แต่ปริมาณยางธรรมชาติยังคงมาก และเกินความต้องการของตลาด เพราะหันไปใช้ยางสังเคราะห์ ก็เลยทำให้ราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ

เรื่องที่ 2. คือประเด็นปริมาณการผลิตยางพารา ที่ช่วงปี 54-58 ทิศทางของโลกลดการผลิตลง แต่ไทยเราผลิตเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการส่งเสริมให้ปลูกยางพาราในอดีต ทำให้เกิดความไม่สมดุลกัน ที่สำคัญเกษตรกรสวนยางไทยนั้น เราจะปลูกยางเป็นพืชเชิงเดี่ยวซะมาก ทำให้เมื่อราคายางผันผวน ก็จะมีผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนอย่างรุนแรง ขณะที่ประเทศอื่นเพาะปลูกพืชทางเลือกเสริมด้วย เช่น มาเลเซียปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างปาล์มน้ำมัน อินโดนีเซียทำเกษตรแบบยังชีพ ทำประมงควบคู่ และ 3.การใช้ยางพาราในประเทศลดน้อยลงเมื่อเทียบกับผลผลิต 4.ความไม่เหมาะสมของพื้นที่ปลูกยางพารา ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้งปัญหาค่าขนส่ง

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราของรัฐบาลนี้ ในระยะยาว เพื่อความยั่งยืนคือ1.ส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางประกอบอาชีพเสริม เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน การปลูกพืชแซม ทำปศุสัตว์ และประมง ควบคู่ไปกับการทำสวนยาง เพื่อให้มีรายได้ที่หลากหลาย รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รัฐจะชดเชยอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี ให้แก่สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ ในการดำเนินธุรกิจแปรรูปยาง ทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียน การปรับปรุงอาคาร การจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการส่งออกและแปรรูปยางในอนาคต

3.ส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นด้วย 4.ควบคุมและลดพื้นที่ปลูกยางพาราให้เหมาะสม ลดการปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม 5.จัดตั้ง “การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)”ควบรวม สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และองค์การสวนยาง เข้าด้วยกัน มีภารกิจจัดทำยุทธศาสตร์บริหารจัดการยางของประเทศแบบครบวงจรให้มีประสิทธิภาพ เราเพิ่งเริ่มปฏิบัติอาจมีหลายอย่างถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง วันนี้เราต้องเอาภาคเอกชนมาร่วมด้วย และทำให้โปร่งใส  เรื่องร้องเรียนกันขึ้นมารัฐบาลให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตรวจสอบ กยท.และ6.ความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก เราทำมาตลอด ไม่ใช่ไม่ทำเลย

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ