ไทย เฮลท์ เดย์ รัน 2017 ยกระดับการวิ่งสู่มาตรฐานสากล

การวิ่งนับเป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายด้วยตนเองด้วยกระแสรันนิ่งบูมครั้งที่ 2 ในปี 2555 ที่ผ่านมา ทำให้มีการจัดงานวิ่งในประเทศมากกว่า 700 งานโดยมีมากกว่า 200 งานที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้คำขวัญ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่”เพราะการวิ่งนอกจากจะเปลี่ยนชีวิตแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)ที่ยังเป็นปัญหาสุขภาพที่คุกคามผู้คนจนถึงปัจจุบัน

เมื่อไม่นานมานี้ สสส.ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่ายสุขภาพ ร่วมกันจัดงาน“วิ่งสู่ชีวิตใหม่” หรือ “ไทย เฮลท์ เดย์ รัน 2017”(Thai Health Day Run)  ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในวันอาทิตย์ที่  12 พ.ย. 2560  ณ.บริเวณสะพานพระราม8 ซึ่งในปีนี้ มีความพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้ง 16 ปี ของสสส.ซึ่งตรงกับวันที่ 8 พ.ย. จึงอยากเชิญชวนประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนักวิ่งหน้าเก่าหรือนักวิ่งหน้าใหม่ ให้ออกมามีกิจกรรมทางกาย โดยใช้การวิ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงชีวิต

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า โครงการวิ่งสู่ชีวิตใหม่ สามารถสร้างกระแสการตื่นตัวในเรื่องสุขภาพ กระตุ้นให้เกิดนักวิ่งหน้าใหม่เข้าสู่สนามวิ่งเป็นจำนวนมาก ใจ ในปี 2559 ประเทศไทยมีประชากรที่มีกิจกรรมทางกายด้วยการวิ่งราว 12 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่เดิมมีเพียง 5.8 ล้านคน และเชื่อว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าการมีกิจกรรมทางกาย และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพโดยการวิ่ง มิใช่เป็นเพียงกระแสอีกต่อไป แต่จะเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ เป็นวิถีชีวิตของคนไทยเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ

“นอกจากนี้ สสส.ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายทุกช่วงวัย โดยวัยเด็กควรมีกิจกรรมทางกายแบบแอโรบิค ระดับปานกลางถึงหนัก อย่างน้อย 60 นาที เป็นประจำทุกวัน เช่น การวิ่งไล่จับ กระโดดเชือก ขว้างบอลหรือเตะฟุตบอล ขณะที่วัยทำงานผู้ใหญ่ควรมีกิจกรรมทางกายแบบแอโรบิคระดับปานกลางขึ้นไปเพื่อให้เลือดลมสูบฉีดต่อเนื่อง อย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 5 วัน อาทิ วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดินเร็ว และผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางรวมอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นการ แกว่งแขนหรือเต้นรำประกอบจังหวะเพลง เป็นต้น”ดร.สุปรีดา กล่าว

ดร.น.พ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.ได้จัดกิจกรรม Thai Health Day Run เป็นครั้งที่ 6 ภายใต้คำขวัญ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่”เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิ่ง ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกายด้วยการวิ่งเพื่อสุขภาพ โดยโครงการนี้จะกระตุ้นให้เกิดนักวิ่งหน้าใหม่เข้าสู่สนามวิ่งเป็นจำนวนมาก เพื่อนำพาไปสู่การมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ สสส. จึงจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องและคาดหวังว่าจะขยายมาตรการการเกิดกิจกรรมทางกายให้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมร้อยละ 70.9 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 80 ในปี 2564 นอกจากนี้ยังมีสื่อรณรงค์เพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวในเรื่องการวิ่งเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นกระแสความนิยมทำให้มีคนเข้าร่วมกิจกรรมวิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“สสส.และสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยมีความพยายามในการยกระดับการวิ่งสู่มาตรฐานสากล โดยเน้นความปลอดภัย และความยุติธรรมในการแข่งขัน และนับว่าเป็นครั้งแรกของการจัดงานวิ่งที่มีจุดปล่อยตัวอยู่บนสะพานพระราม 8 และจุดสิ้นสุดอยู่ที่สวนหลวงพระราม 8 นอกจากนี้ก่อนวันงานยังมีกิจกรรม อาทิ การพัฒนาศักยภาพผู้นำการวิ่งเพื่อสุขภาพ การอบรมนักวิ่งหน้าใหม่ การรณรงค์และส่งเสริมนักวิ่งหน้าใหม่  จัดอบรมอาสาสมัครด้านต่างๆ สำหรับในวันงาน Thai Health Day Run2017 มีการเตรียมพร้อมของเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ตลอดเส้นทางการวิ่งทุกระยะ โดยได้รับความร่วมมือจาก รพ.วชิรพยาบาล รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.นครธน รพ. เจ้าพระยา และการบริการน้ำดื่มในทุกๆ 2 กิโลเมตรอีกด้วย” ดร.ไพโรจน์ อธิบาย

จากผู้ป่วยที่เดินได้ไม่ถึง 100 เมตร สู่นักวิ่งมินิมาราธอน นายณัฐพล เสมสุวรรณผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคแพ้ยาอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นโรคที่ใน 1 ล้านคนจะเจอได้แค่ 7 คนเท่านั้น จนเป็นผู้ป่วยติดเตียงโดยมีความคิดหลายๆครั้งเพื่อที่จะจบชีวิตของตนเอง จนวันหนึ่งขณะที่นอนอยู่บนเตียงที่ รพ.หันไปเห็นนกบินมาเกาะหน้าต่าง จึงน้ำตาไหลด้วยความรู้สึกอิจฉาในชีวิตของนกตัวนั้นที่มีอิสระอยากออกไปใหนก็ได้ แต่ตนเองเดินแค่ 4-5 ก้าวก็เหนื่อยแล้ว 

“การได้รับคีโม 30กว่าครั้ง ส่งผลให้ร่างกายซูบผอมเดินไปทางไหนมีแต่คนกลัว เด็กตัวเล็กๆหันมาเห็นยังร้องไห้ ทำให้ยิ่งท้อใจอย่างมาก จึงเริ่มหาหนังสืออ่านเพื่อเพิ่มพลังบวกให้กับตนเองจนมาเจอหนังสือของหนุ่มเมืองจันท์ ซึ่งในนั้นเขียนว่า “เราเข้าใจทุกคนบนโลกไม่ได้ แต่เราทำให้เขาเข้าใจเราได้”หลังจากนั้นจึงมีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้นส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้เข้าสู่การวิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจ เพราะวันนั้นแฟนเพื่อนบังเอิญป่วยแต่ได้ลงวิ่งไว้ 10 กิโลเมตร เพื่อนจึงชวนตนไปแทน ตนก็รับปากไปทั้งๆที่ไม่รู้ว่าจะวิ่งไหวไหมวิ่งไปซักระยะนึงก็เริ่มมีอาการเหนื่อยมองเห็นทางแยกข้างหน้าซ้ายขวาระหว่าง5กิโลเมตร กับ 10 กิโลเมตร จึงคิดในใจว่าหากวิ่งไปทาง 5 กิโลเมตร ตนก็แค่ได้ลงมือกระทำ

แต่หากวิ่ง 10 กิโลเมตร นั่นหมายถึงตนทำได้ และสุดท้ายก็ทำได้ หลังจากนั้นก็เริ่มออกวิ่งพัฒนาตนเองจนหลงรักการวิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เจอเพื่อนใหม่ สุขภาพดีขึ้น และสุดท้ายอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองออกมาวิ่ง อย่าท้อแท้เอาชนะใจตนเองให้ได้ เพราะการวิ่งจะเปลี่ยนชีวิตคุณได้จริงๆ” นายณัฐพล เล่าให้ฟัง

จากเหตุการณ์เด็กไทยที่ไปเรียนในประเทศสิงคโปร์โดนรถไฟฟ้าทับขาขาดทั้ง2ข้างและพลิกชีวิตด้วยความคิดบวก อย่าง นางสาวณิชชารีย์  เป็นเอกชนะศักดิ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้สำรวจความสุขคนไข้ ของโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล เล่าว่า 

“การได้ทำงานปัจจุบันเป็นผลมาจากการที่ได้ตัดสินใจวิ่งในงานThai Health Day Runในปี 2555 เพราะเคยคิดว่าชีวิตนี้ตนจะไม่มีโอกาสได้วิ่งอีกแล้วหรอ จึงตัดสินใจลงวิ่งโดยมีนักกายภาพเข็นรถวีลแชร์ตามตลอดเส้นทาง  แต่ด้วยความพยายามจึงไม่ขอใช้รถวีลแชร์เลย ในการวิ่งครั้งนั้นทำให้เปลี่ยนความคิดที่เคยจำกัดตนเองว่าสามารถวิ่งได้แค่ในฟิตเนส แท้จริงแล้วตนออกมาวิ่งข้างนอกได้มาร่วมพูดคุยกับนักวิ่งที่มีประสบการณ์ ถือว่าโชคดีมากที่ได้มาเจอกับสิ่งดีๆแบบนี้

รวมถึงในงานมีการสอนวิ่งที่ถูกวิธีและให้ความรู้สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ได้อย่างครบถ้วน จึงทำให้ตนรู้สึกเหมือนได้ชีวิตใหม่อีกครั้ง ชีวิตที่กล้าออกมาเดินมาวิ่งได้เห็นรอยยิ้มได้ยินคำให้กำลังใจจากเพื่อนนักวิ่งด้วยกัน เกิดมิตรภาพที่ดี ทำให้ปัจจุบันเริ่มวิ่งได้ดีขึ้นและทำเวลาได้ดีมากขึ้น” นางสาวณิชชารีย์  เล่าพร้อมรอยยิ้มสดใส

มาที่สุดยอดนักวิ่ง วัย 78 ปี ที่อายุไม่ใช่อุปสรรคของการออกกำลังกาย นางสุนันทา เลื่อมประภัศร์ ที่เริ่มวิ่งครั้งแรกตอนอายุ 50ปี และปัจจุบันวิ่งมา 28ปีแล้ว 

“จริงๆตนเป็นคนไม่ได้ชอบออกกำลังกายแต่มีสาเหตุให้ต้องออกกำลังกาย เนื่องจากตอนนั้นสามีเกิดป่วย ซึ่งคุณหมอแนะนำให้ไปออกกำลังกายตนจึงตามสามีไปแรกๆก็นั่งรอ พอนานไปรู้สึกว่ารอแล้วเสียเวลาจึงออกกำลังกายไปพร้อมกับสามีด้วย ครั้งแรกก็เริ่มเดินก่อนแล้วเริ่มวิ่งช้าๆสลับกันไปมา สมัยก่อนยังไม่มีการแข่งขันวิ่งมากมายแบบปัจจุบัน ใน 1เดือนจะมี 1ครั้งแต่ตนก็เริ่มลงสมัครวิ่งมาเรื่อยๆ ครั้งแรกลงวิ่ง 3 กิโลเมตร และเพิ่มระยะมาเรื่อยๆจนปัจจุบัน วิ่งระยะ 42.195 กิโลเมตร ถือเป็นการวิ่งที่ไม่หวังรางวัลใดๆเน้นวิ่งเพื่อสุขภาพของตนเอง

ตอนนี้มีเพื่อนนักวิ่งมากมายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หลายคนก็เชิญชวนให้ไปวิ่ง ตนก็ไปเพราะได้มิตรภาพมากขึ้นเรื่อยๆมีความห่วงใยกันดูแลกันระหว่างทางวิ่งหรือแม้กระทั้งจบการแข่งขันก็ยังเป็นห่วงกันเหมือนเดิม ทำให้หายเหงาหายเครียดมีความความสุขกับการวิ่งและจะวิ่งต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะวิ่งไม่ไหว เด็กๆรุ่นใหม่ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็อยากให้มาเริ่มวิ่งกันเยอะๆเพราะคุณจะได้สังคมที่กว้างขึ้นในหมู่นักวิ่งรวมถึงสุขภาพที่ดีมากขึ้นด้วย” นางสุนันทา เชิญชวนทิ้งท้าย