สภาวะที่น่าเป็นห่วง ภัยร้ายที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ใส่ใจ!

สภาวะที่น่าเป็นห่วง ภัยร้ายที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ใส่ใจ! นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัยเผย คนไทยไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย
​           
ผศ.ดร. วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการสังคมผู้สูงวัย และนายกสมาคมบ้านปันรัก กล่าวถึงการเตรียมตัวของสังคมผู้สู่สังคมไว้ดังนี้ “การรักษาสุขภาพเพื่อเตรียมความพร้อมสู่วันสูงวัยแล้ว การวางแผนด้านอื่นๆก็มีความสำคัญไม่น้อย เช่นเรื่องของปัจจัยในการดำรงชีวิต  ซึ่งตามข้อมูลจากธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า ผู้สูงวัยไทยเกินกว่าครึ่งดำรงชีวิตจากรายได้ที่ได้มาจากผู้อื่น นั่นคือมีผู้อุปถัมภ์ดูแล และมีแนวโน้มลดน้อยลงเรื่อยๆ และผู้สูงวัยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อการหาเลี้ยงชีพด้วยตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงหากผู้สูงวัยยังมีความจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพอยู่ กรมจัดหางาน ก็ยังมีการจัดการเพื่อเชื่อมโยงงานกับผู้สูงวัย ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ยังรับผู้สูงวัยเข้าทำงาน เช่น ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์, บิ๊กซี, ซีพีออล์ เป็นต้น แต่ที่สำคัญที่สุด ผู้สูงวัยเองต้องทำหัวใจให้เข้มแข็ง ให้มีพลังในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน อย่างมีคุณค่าและมีความสุขที่สุข

นอกจากนี้แล้ว เรื่องของที่อยู่อาศัยก็ต้องเตรียมปรับสภาพบ้านให้รองรับการอยู่อาศัยในวันสูงวัย มีความพร้อมในอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ และถ้าสูงวัยแล้ว อย่าอยู่บ้านให้เหงาและเฉา ถ้าออกจากบ้านได้ต้องออกเพื่อคลายเหงา ภาครัฐมีโรงเรียนผู้สูงอายุอยู่ในหลายภูมิภาค เปิดโอกาสให้ได้เข้าไปเรียนรู้หรือปรับตนเอง เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ลูก ๆ หลาน ๆ ต่อไป และในกรณีที่ผู้สูวัยอยู่คนเดียว ก็ควรมีการจับกลุ่ม มีระบบเพื่อนบ้าน อาสาสมัคร เพื่อดูแลกันและกัน สร้างชุมชนท้องถิ่นแห่งการเอื้ออาทร ดูแลกันและกัน
 ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย ผู้อำนวยการสถาบันคิดใหม่ และนายกสมาคมบ้านปันรัก ผมมีความเห็นว่าเรื่องผู้สูงวัยเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แม้หลายหน่วยงานจะมีเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นตัวเลขว่า เราควรมีเงินเก็บมากเท่าใด จึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตในบั้นปลาย

แต่จากที่ผมได้เก็บข้อมูลและศึกษาถึงมุมคิดทางด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องกลับพบว่า ถึงแม้ผู้สูงอายุจะสามารถเก็บเงินได้ตามเป้าหมายที่ถูกจากหลายสำนักระบุไว้ แต่ก็ไม่มีวันรู้สึกว่าเพียงพอต่อการดำรงอยู่อย่างแท้จริง เพราะจิตใจของผู้สูงวัยนั้น ยังคงรู้สึกไม่มั่นคงและหวาดกลัวในการดำเนินชีวิตในเรื่องปัจจัย 4 เกิดความกังวลใจจนไม่อาจสามารถวางใจได้  

อีกประเด็นที่น่าจับตามองคือ แม้นการมีบุตรจะเป็นความอุ่นใจให้ผู้สูงวัยที่จะมีคนมาดูแลบุพการีในบั้นปลาย หากแต่ในยุคนี้ คนส่วนใหญ่กลับมีความนิยมที่จะสร้างความรื่นรมย์ด้วยตนเอง จึงลดการมีคู่และการมีบุตรกันมากขึ้น  ซึ่งผมมองว่าปัญหานี้เป็นเรื่องน่าตกใจ และถือเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติที่ผู้คนหันมามีพฤติกรรมและดำรงชีวิตกันในลักษณะนี้มากขึ้น นั่นคือ สุขในการอยู่คนเดียว ไร้คู่ และมีชีวิตที่ผูกติดกับเทคโนโลยี สภาพสังคมในวันนั้นจะเป็นอย่างไรเราก็ไม่อาจคาดเดาได้ ด้วยเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งในมุมมองของผม แม้นจะไม่มีคู่ แต่ถ้าไม่ได้อยู่คนเดียว ปัญหานี้ก็จะไม่เกิด นั่นหมายถึงอาจจะได้อยู่กับญาติ กับเพื่อน หรืออยู่ในความดูแลของรัฐ รวมถึงสถานรับรอง

ในส่วนของผู้สูงวัยที่มีคู่ นอกเหนือจากเรื่องทางกายภาพว่าจะมีคนดูแลซึ่งกันและกัน หากแต่การมีคู่นั้น ยังให้ความรู้สึกถึงการมีคุณค่าระหว่างกัน และนั่นคือ “พลังใจ” ที่จะใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุข สำหรับผู้ที่จะวางแผนจะอยู่เป็นโสด ผมขอแนะนำว่า ให้เตรียมความพร้อมด้านกายภาพ เช่น ความพร้อมของบ้านในการอยู่อาศัย และสิ่งที่ต้องเตรียมนอกจากนี้คือ “ความรู้สึกในการที่ดำรงตนอยู่ด้วยการรู้สึกมีคุณค่ากับตนเอง” ซึ่งผมขอแนะนำว่าผู้สูงวัยควรจะต้องทำกิจกรรมอะไรที่เป็นงานจิตอาสา จัดเวลาออกไปทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่น หรือเป็นประโยชน์กับอะไรสักอย่าง ที่เมื่อได้ทำลงไปแล้วจะทำให้ในทุก ๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมา มีความสุขและเห็นคุณค่าตัวเองที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น และนี่คือการเติมเต็มคุณค่าให้แก่ชีวิตอย่างแท้จริงครับ

สุดท้าย ผมอยากจะฝากเรื่อง “ชุมชนสวัสดิการ” มากกว่าที่จะหวังพึ่งรัฐสวัสดิการแต่เพียงอย่างเดียว การสร้างคุณค่า การเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน การทำงานจิตอาสา จะทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่า มีความสุข และสืบเนื่องจากการที่ผมทำงานด้านนี้มาจนได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย ทำให้เห็นว่า ทุกคนมีศักยภาพและมีสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการแบ่งปันเสมอ เพียงแต่ติดที่ใจและมุมคิดของเราที่ไม่เปิดกว้างอย่างแท้จริงนั่นเอง  

บทสรุป การวางแผนชีวิตง่าย ๆ ของคนโสด หรือคนที่วางแผนอยู่อย่างโสด หรือผู้ที่คิดว่าไม่อยากจะพึ่งลูกหลานในอนาคต หลังจากเกษียณแล้ว หากสุขภาพร่างกายยังแข็งแรง และได้นำความรู้ความสามารถมาสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้แก่สังคม จะเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า การใช้ชีวิตโสดของผู้สูงวัย เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและมีคุณค่าอย่างมาก ซึ่งนับเป็นการได้ใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ มีคุณค่า และมีความสุขเป็นที่สุด” ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา กล่าว