วิถีชีวิต : วิถีการเมือง

แม้ตามรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะยังคงมีช่องทางของการอุทธรณ์คดีได้  แต่เมื่อคำพิพากษาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตออกมาแล้ว เท่ากับว่า ขณะนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังมีสถานะเป็น อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีคดีในต่างประเทศ 

 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อเทียบเคียงจากคำว่า "วิถีชีวิต" ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพี่ชาย นั่นก็คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีคดีในต่างประเทศ ว่าอาจไม่แตกต่างกัน และถ้าเทียบเคียงจากคำว่า "วิถีทางการเมือง" ก็น่าจะมีคำยอมรับได้ว่า..เหมือนกันอยู่

 

และหากจะหาคำตอบจาก 2 เหตุการณ์ใน 2 ยุค 2 สมัย ของอดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 คนนี้ การเมืองไทย..ได้รับบทเรียนอย่างไร และอนาคต เราจะปิดช่องว่างเหล่านี้..ได้ไหม และอดีตนายกรัฐมนตรี 2 คนนี้ กำลังกลายเป็นต้นแบบของคำว่า "บทเรียนทางการเมืองของไทย" จริงหรือไม่ และกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญ ในการปรับเปลี่ยนกฎหมาย หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญ เพื่อปิดช่องว่างของปัญหาอย่างไร

 

เรียบเรียงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะด้วยวิถีชีวิต หรือวิถีทางการเมือง หลายๆฝ่ายคงจะเห็นตรงกันว่า อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้ง 2 คนนี้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-ทักษิณ ชินวัตร" มีหลายๆประเด็นที่เหมือนและคล้ายกันอยู่..โดยประเด็นที่เด่นชัดและกำลังเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมไทย คือ เป็นผู้นำ..จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ถูกยึดอำนาจรัฐประหาร และกลายเป็นผู้ต้องโทษอาญา ก่อนจะหลบหนีคดีในต่างประเทศ ที่สำคัญกว่านั้น คือเป็นพี่ชาย-น้องสาว จากตระกูล"ชินวัตร"

 

จะว่าด้วย วิถีชีวิต หรือวิถีทางการเมืองของพี่ชายและน้องสาว "2 พี่น้องตระกูลชินวัตร" เมื่อ20 ปีก่อนนี้ พี่ชาย..คือนายทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบุกเบิก-เปิดทาง..ทางการเมือง ด้วยวลีที่ว่า "ตาดูดาว..เท้าติดดิน" หลังคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็โลดแล่นอยู่บนถนนการเมือง "4 ปี 8 เดือน" กับการเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศ แต่ก็ถูกถูกยึดอำนาจรัฐประหาร   

 

และศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา ร่ำร่วยผิดปกติ จากกรณีขายหุ้นชินคอร์ปฯ และสั่งยึดทรัพย์ 4 หมื่น 6 พันล้านบาท และมีคำพิพากษา" ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต" เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลับเป็นคู่สัญญา และมีส่วนได้เสียในสัญญากับรัฐ กรณีซื้อที่ดินรัชดาฯ ที่ดิน..ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการ เปิดประมูลขาย สุดท้าย..ต้องโทษจำคุก 2 ปี  

 

ในที่สุด ปิดฉาก..นายทักษิณ ด้วยการหลบหนีคดีในต่างประเทศ  ไม่ต่าง..กับน้องสาว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งสถานะตอนนี้ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีในต่างประเทศ..เช่นกัน โดยศาลฯ มีคำพิพากษา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เหตุไม่ให้ความสำคัญในการกำกับ-ดูแล โครงการรับจำนำข้าว และก็รับทราบ-รับรู้ กับการทุจริตระรายข้าวแบบจีทูจี..ต้องโทษจำคุก 5 ปี   

 

และที่บอกว่า มีวิถีไม่ต่างไปจากพี่ชาย คือชนะการเลือกตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย "2 ปี 9 เดือนกับอีก 2 วัน" ก่อนจะถูกยึดอำนาจรัฐประหาร และที่จะตามมาอีก คือการยึดทรัพย์ 3 หมื่น 5 พันล้านบาท เท่ากับต้องปิดฉากตัวเองเช่นกัน แต่จะเป็นไปตามสโลแกน "แก้ไข..ไม่แก้แค้น"

 

มีข้อสังเกตว่า ภาพสะท้อนเหตุการณ์..การเมืองไทยในช่วง 11 ปี กับ 2 เหตุยึดอำนาจรัฐประหาร กับ 2 ยุครัฐบาล "ไทยรักไทยกับเพื่อไทย" น่าจะประมวลได้ถึงการล้างระบอบทักษิณ-ให้พ้นจากการเมืองไทยหรือไม่ 

 

ระบอบทักษิณ ที่หมายถึงหลักคิด-หลักปฏิบัติ ในแบบฉบับของคนในตระกูลชินวัตร ภาคแรก-ยึดอำนาจรัฐประหาร-นายทักษิณ ชินวัตร "19 กันยายน 2549" ภาคสอง-ยึดอำนาจรัฐประหาร-นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร "22 พฤษภาคม 2557"  จาก 2 เหตุการณ์ที่ว่านี้ ไม่รู้ว่า จะใช่..การล้างระบอบทักษิณ ให้หมดสิ้นไปจากการเมืองไทยหรือไม่..แต่ที่สะท้อนภาพชัด คือ บทเรียนที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทย 

 

กรณีของนายทักษิณ หรือกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ บ่งบอกถึงการใช้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของ"หัวหน้ารัฐบาล" ผ่าน 3 เสาหลัก "บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ" ซึ่งนายกรัฐมนตรีและ ครม.จะมีรัฐสภา เป็นดุลอำนาจ และมีองค์กรอิสระหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นกลไกเสริม มีศาลฯ..ที่จะชี้ขาด..ในกระบวนการยุติธรรม 

 

กรณีของพี่ชาย กับรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 อาจมีจุดอ่อน ที่สร้างเกราะป้องกันเสถียรภาพของรัฐบาล จึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แม้รัฐบาลเพื่อไทย จะมีกลไกการตรวจสอบเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นแค่ "เสือกระดาษ" มาถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จึงกลายเป็น"ยาแรง" โดยเฉพาะกับฝ่ายการเมือง มีเจตนารมณ์ที่จะกลั่นกรองผู้เข้าสู่ตำแหน่ง หรืออำนาจรัฐ ตั้งแต่ต้นทาง

 

และเมื่อต้องคำพิพากษาจำคุก หรือเคยรับโทษจำคุก หรือเคยทำผิดต่อหน้าที่และทุจริต ย่อมเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98 และจากกรณีโครงการรับจำนำข้าวกับเหตุทุจริตระบายข้าว ก็กลายเป็นต้นแบบของมาตรา 244 และมาตรา 245 เพื่อเป็นแนวทางป้องกันเหตุในอนาคต 

 

โดยสาระสำคัญคือ กรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีพฤติการณ์ไม่ชอบหรือทุจริต จงใจใช้อำนาจหน้าที่-ขัดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หรือทำให้การเลือกตั้ง-ไม่สุจริต..เที่ยงธรรม ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แจ้ง ปปช.  กกต. เพื่อทราบและดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ และให้ใช้หนังสือแจ้ง เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนได้ 

 

และเพื่อประโยชน์ในการระงับ หรือยับยั้งความเสียหาย  ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอผลตรวจสอบนั้น ต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. ถ้าเห็นพ้องด้วยกัน ให้ร่วมกับ กกต. และปปช. สรุปความเห็น แจ้งต่อสภาฯ วุฒิสภา และ ครม. โดยไม่ชักช้า 

 

ในมุมลบ..ที่เกิดขึ้น ก็ย่อมมีผลบวก..เกิดขึ้นเช่นกัน ดังนั้น..โทษทางการเมือง หรือโทษอาญา..ที่เกิดขึ้น อาจจะไม่ใช่กับอดีตนายกฯทักษิณ หรืออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์..ในวันนี้ แต่ช่องว่างในอดีตที่ถูกปิดไว้แน่นนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่างก็ต้องใช้อำนาจรัฐโดยชอบด้วย เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยอดีตที่เคยเกิดขึ้น 

 

 

เขียน : ต้นไม้ politics