นายกฯ แนะทุกคนปรับเปลี่ยน สู่มิติพัฒนาการศึกษา

วันนี้ (25 กันยายน 2560) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม Convention A ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จังหวัดชลบุรี  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมสัมมนา“มิติการศึกษา พื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  

 นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการพัฒนาการศึกษาว่า มีความสำคัญยิ่งต่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ทั้งสามัญ อาชีพ ทักษะชีวิต การติดต่อสื่อสาร วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดจนภาษาที่หลากหลาย ทุกอย่างล้วนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น ตามบริบทของแต่ละพื้นที่  สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้การศึกษาและการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่พิเศษในลักษณะต่าง ๆ  ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ได้สนับสนุนการดำเนินการในแต่ละพื้นที่โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนากำลังคนของประเทศ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน  เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยได้ดำเนินงานโครงการต่าง ๆ   ดังนี้

1. โครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่ชายแดน 2. โครงการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3. โครงการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนใต้ 4. โครงการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” 5. โครงการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ 6. โครงการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนพื้นที่สูง 
และเกาะ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ  1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง   2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน  3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน   4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม  5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  และ 6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการมุ่งสู่การศึกษาที่ยั่งยืน ประเทศไทยจึงได้นำหลักการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระบบการศึกษาแห่งชาติ มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติและทฤษฎีความยั่งยืนซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง SEP “การคิดอย่างพอเพียง” ซึ่งมีรากฐานจากหลัก 3 ประการ ประกอบด้วย ความพอประมาณ  ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี การปลูกฝังทัศนคติและการฝึกฝนที่มีพื้นฐานของความพอเพียง 

จะช่วยให้เด็กมีนิสัยเป็นนักคิดชั่วชีวิต เด็กจะมีทักษะที่พึ่งพาตนเอง และมีวิถีชีวิตที่มีความสมดุล ที่สำคัญ ต้องเน้นในเรื่องของวินัย คุณธรรม และจริยธรรม นักเรียนจะต้องถูกสอนให้ใช้เหตุผล มีความรอบคอบ มุ่งเน้นการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมได้ การปฏิรูปการศึกษาของหน่วยงานต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันภาคส่วนที่ขับเคลื่อนเข้าถึงโดยตรง ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน แต่ละภูมิภาคต้องมีความแข็งแรงด้วยตัวเอง เยาวชนต้องมีการเรียนรู้สิ่งสำคัญต่าง ๆ ในชุมชนของตนเอง นำจุดเด่นในชุมชนมาพัฒนาเป็นการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองอีกด้วย
         


นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า  เป็นการรณรงค์ระดับนานาชาติของ UNESCO ซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์เพื่อโลกที่ทุกคนได้รับจากการเรียนรู้คุณค่า พฤติกรรมและวิถีชีวิตที่จำเป็นสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ใช้วิธีแบบองค์รวม ระบุความยั่งยืนแบบธรรมชาติกับความยั่งยืนของสังคม เป้าหมายคือ การสร้างความสามารถเพื่อการตัดสินใจโดยมีพื้นฐานของชุมชน ความอดทนของสังคม การดูแลสิ่งแวดล้อม ประชากรที่ปรับตัว และคุณภาพของชีวิตทั้งหมดที่ได้รับการพัฒนาโดยใช้วิธีการที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบการมีส่วนร่วมและการคิดอย่างมีข้อมูล คุณลักษณะหลักของโรงเรียนที่ยั่งยืน 

ดังนี้  1. การมุ่งมั่นต่อผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมเชิงบวก ตลอดจนให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมวัฒนธรรม 2. ความเป็นผู้นำอย่ามีวิสัยทัศน์ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกัน 3. การพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่องสำหรับครูและผู้มีส่วนร่วม 4. การขยายการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งให้ความสำคัญกับการร่วมมือกันของผู้ลงมือปฏิบัติที่หลากหลาย ในการร่วมกันออกแบบกระบวนการดำเนินงานพื้นฐานและความสัมพันธ์ของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน  5. การมีหลักสูตรที่มุ่งมั่นต่อความยั่งยืน 6. โรงเรียนในฐานะเป็นองค์กรการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม 

การศึกษาแบบยั่งยืนจำเป็นต้องมีการบูรณาการของรูปแบบการสอนแบบยึดการแก้ไขปัญหาเป็นฐานและการทดลอง ซึ่งจะทำให้ผู้มีส่วนร่วมเป็นนักวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และมุ่งการเปลี่ยนแปลง 7. การปรับปรุงโรงเรีนแบบองค์รวม โดยการฝึกฝนในเรื่องความยั่งยืน ในคุณลักษณะของกิจกรรมโรงเรียนทุกด้านและชีวิตของทุกคน ส่งเสริมการประสานกิจกรรมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนระหว่างโรงเรียนและชุมชน 8. มีความชำนาญในเรื่องการศึกษาเพื่อความยั่งยืน และ 9.ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองอย่างเหมาะสม โดยผ่านกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานรัฐบาลอื่น ๆ  

 

 


ภาพ:WassanaNanuam

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ