สวทน. ผนึก 6 มหาวิทยาลัยผ่าทางตันปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านอาหาร

สวทน. ผนึกกำลัง 6 มหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ผ่าทางตันปัญหาขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทางด้านอาหาร เตรียมปั้นนักเทคโนโลยีกลิ่นรส เหตุขาดผู้เชี่ยวชาญ ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหารเผย ได้จัดทำหลักสูตร “เฟลเวอร์ อะคาเดมี” เปิดอบรมครั้งแรกปลายปีนี้  
 
ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม  ทั้งนี้ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการสร้างศักยภาพด้านการลงทุนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปคือ การพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาต่างๆ ของประเทศที่ขาดแคลน ได้แก่ด้านเทคโนโลยีกลิ่นรส เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าสารแต่งกลิ่น (Flavor) จากต่างประเทศเพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบอาหารเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี  เพราะไม่สามารถผลิตได้เองอย่างเพียงพอ เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรที่มีพื้นฐานความรู้และทักษะในด้านการวิจัยและพัฒนากลิ่นรส รวมทั้งขาดการบ่มเพาะความรู้และความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีดังกล่าว
 
“เพื่อให้เกิดความความยั่งยืนในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีกลิ่นรส ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมอาหารของไทย สวทน. จึงร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วยภาคเอกชนคือบริษัทสวีทแอนด์อินเวนท์ จำกัด จัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกลิ่นรสของประเทศ (Flavor Academy) นำไปสู่การสร้างความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนากลิ่นรส ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการผลิตในประเทศ และลดการนำเข้า ที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหารให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.อัครวิทย์ กล่าว
 
ดร.สิรี ชัยเสรี ที่ปรึกษาคณะทำงานโครงการ Flavor Academy กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ด้านกลิ่นรสของอาหารไทยโดยเฉพาะด้านเคมีและการทดสอบทางประสาทสัมผัส การร่วมมือกันทำงานระหว่างเมืองนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน จะทำให้เกิดการบูรณาการของศาสตร์และศิลป์ ทำให้เกิดนวัตกรรมของกลิ่นรสอาหารของไทย ที่ผู้ประกอบการสามารถสร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภคทั่วโลกได้

 
ขณะที่ นายปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ จากบริษัท Sweet and Invent จำกัด ในฐานะคณะทำงานโครงการฯ กล่าวว่า ในมุมมองของภาคเอกชน อุตสาหกรรมสารให้กลิ่นรสอาหาร มีการเติบโตและขยายตัวตามภาคการผลิตอาหารของประเทศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอาหาร และต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก การส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในประเทศเพื่อให้เราผลิตได้เอง จะช่วยลดการนำเข้า ทั้งยังสามารถเพิ่มศักยภาพของการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทยในการผลิตสารให้กลิ่นรสอาหารเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรอีกทางหนึ่ง โดยส่วนตัวผูกพันกับอุตสาหกรรมสารให้กลิ่นรสอาหารมานานกว่าสิบปี เห็นการพัฒนาของอุตสาหกรรมด้านนี้มานาน จึงอยากเห็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านนี้ของประเทศ ดังนั้นการพัฒนาบุคคลากรจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การร่วมมือกับ สวทน และ มหาวิทยาลัยครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและจะส่งผลดีมากต่อประเทศไทย
 
 
ด้าน ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ ประธานคณะทำงานโครงการฯ กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการว่า ได้จัดหลักสูตรหลายระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับกลิ่นรสและสารปรุงแต่งกลิ่นรส เพื่อการนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร หลักสูตรระดับกลางที่จะเพิ่มพูนความรู้จนเป็นนักเทคโนโลยีด้านกลิ่นรส ตลอดจนหลักสูตรระดับสูงเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นรส และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในหลักสูตรรังสรรค์กลิ่นรส โดยทาง  Flavor Academy จะเปิดอบรมหลักสูตรวิทยาศาสตร์พื้นฐานของกลิ่นรสเป็นครั้งแรกในประเทศไทย วันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2560 ณ Crowne Plaza Bangkok Lumpini Park โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นรส หรือ Flavorist ที่เข้าใจศาสตร์ของกลิ่นรสและธรรมชาติของกลิ่นรสในอาหาร สามารถปรุงแต่งกลิ่นรสอาหารให้ตรงความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค หากสนใจหลักสูตรที่ทาง  Flavor Academy จะเปิดอบรมสามารถติดต่อได้ที่ [email protected] หรือโทร. 0942497333