สสค. เปิดระบบ Q-info ต้นแบบ Big Data ขับเคลื่อนภูเก็ต Smart City



ทันทีที่ข้อมูลจากระบบ Q-Info ได้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากการศึกษาของน้องสิงห์ เพราะการขาดเรียนอยู่เป็นประจำ เบื้องต้นทางโรงเรียนก็รีบเข้าไปเยี่ยมบ้านพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนและผู้ปกครอง ต่อมาทางเทศบาลเองก็เห็นข้อมูลนี้ด้วยเช่นกัน จึงประสานหน่วยงานต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือ ตอนนี้สภาพบ้านของน้องสิงห์เปลี่ยนไปจากที่ได้เห็นครั้งแรกคือต้องกินนอนอยู่บนกองขยะ ก็ได้รับการช่วยเหลือปรับปรุงให้มีความสะอาดน่าอยู่ถูกสุขลักษณะมากขึ้น ตอนนี้ก็ถือว่าดูดีขึ้นมากกว่าร้อยละ 80”

เป็นคำบอกเล่าของ นางสาวภคมล แก้วภราดัย รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดขจรรังสรรค์ สังกัดเทศบาลนครภูเก็ต ถึงประโยชน์ของข้อมูลและการแจ้งเตือนของระบบ Q-Info ที่สามารถช่วยติดตามเด็กนักเรียนได้เป็นรายบุคคล จนทำให้เกิดการบูรณาการส่วนงานต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที จนสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับ “น้องสิงห์” เด็กชายวัย 8 ขวบ นักเรียนชั้น ป.1 ได้อีกครั้ง ซึ่งถ้าหากไม่มีระบบนี้น้องสิงห์ก็คงไม่ได้การช่วยเหลือต่างๆ และต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย

“ตอนนี้มีทีมสาธารณสุขเข้ามาช่วยดูแลเรื่องปัญหาเรื่องสุขภาพของน้องสิงห์ และทางคณะครูก็คอยติดตามดูแลในเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผลการเรียนของน้องสิงห์จากเดิมที่ถือว่าแย่มาก และยังขาดเรียนจนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เทอมนี้ก็ดีขึ้นมาอยู่ในระดับปานกลางและไม่ขาดเรียนเหมือนก่อน ผลการเรียนก็ดีขึ้นเกือบทุกวิชา ดูสนุกสนานและร่าเริงขึ้นกว่าเมื่อก่อน ครูประจำชั้นก็จะช่วยติดตามการเรียนการสอน ทบทวนให้ในรายวิชาที่อาจจะยังเรียนได้ไม่ทันเพื่อน เพราะพื้นฐานไม่ค่อยดีนักเนื่องจากไม่เคยได้รับการศึกษาในชั้นอนุบาลมาก่อนหน้านี้” ครูภคมลเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในด้านต่างๆ ของน้องสิงห์ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ระบบ Q-Info

ซึ่งกรณีตัวอย่างของ “น้องสิงห์” เป็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนของนโยบายด้านการจัดการศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ตกับโรงเรียนในสังกัดที่เล็งเห็นว่า “การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพัฒนากำลังคน” ให้ความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อไปขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ตให้ไปสู่การเป็น Smart City แห่งแรกของประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล 

“การจะสร้างให้ภูเก็ตเป็น Smart City ได้นั้น สิ่งที่ต้องลงทุนเร่งด่วนที่สุดคือการพัฒนาคนภูเก็ตให้มีความพร้อม ซึ่งจะต้องเริ่มที่การศึกษา โดยเทศบาลนครภูเก็ตเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเชื่อมั่นและมั่นใจว่า ถ้าเรามีข้อมูลและนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการศึกษา จะช่วยลดปัญหาและลดช่องว่างในเรื่องของคุณภาพการเรียนรู้ คุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูและโรงเรียนได้ และข้อมูลยังทำให้สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างมั่นใจและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญเราไม่ต้องการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งก็เหมือนกับการตรวจสุขภาพ ถ้าเรารู้ได้เร็วว่าเราเป็นโรคอะไร เราก็จะหาวิธีป้องกันและรักษาได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับเรื่องของการศึกษา ที่ระบบและข้อมูลก็จะช่วยให้เราสามารถที่จะแก้ปัญหาของผู้เรียนได้ที่ต้นเหตุ ซึ่งดีกว่าการแก้ที่ปลายเหตุที่ช้าและแก้ไขได้ไม่ทัน” นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ระบุ

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงร่วมกับ เทศบาลนครภูเก็ต และมหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาระบบ Q-Info หรือ ระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ สร้างฐานข้อมูล Big Data บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาคนไทยในยุค 4.0 และเตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังคนของจังหวัดให้ไปสู่เป้าหมายภูเก็ต Smart City

  ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. กล่าวว่า ระบบ Q-Info พัฒนาจากโมเดล“ระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา” (Basic Education Development Index : IDEB) หรือ “อีเด็บ” ของประเทศบราซิล ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กเยาวชนในแต่ละพื้นที่ๆ ทำให้อันดับคะแนน PISA เพิ่มก้าวกระโดดเร็วที่สุดในบรรดา 65 ประเทศที่ร่วมประเมินในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดย OECD ยกย่องให้เป็นกรณีตัวอย่าง สำหรับประเทศไทยได้มีการวิจัยเรื่องนี้มากว่า 3 ปี เริ่มทดลองในจังหวัดภูเก็ตและนครราชสีมา โดยภูเก็ตใช้กับโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ตจำนวน 7 โรง เทศบาลกระทู้  2 โรง และโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 9 โรง ครอบคลุมนักเรียนมากกว่า 10,000 คน

“ระบบนี้จะช่วยให้ผู้บริหารเทศบาลสามารถใช้ข้อมูลในการวางแผน ติดตาม และบริหารระบบการศึกษาของเทศบาลได้แบบ Real-time และช่วยให้ครูใช้ข้อมูลวางแผนการทำงาน การประเมินวัดผลและเลื่อนชั้นเรียน สามารถลดภาระครูโดยสั่งพิมพ์แบบ ปพ. หรือเอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้ทันที  และยังช่วยบันทึกสถานการณ์ของนักเรียนทั้ง การขาด ลา มา สาย น้ำหนัก และส่วนสูงด้วยแอปพลิเคชั่น Q-Attendance ที่ครูใช้บนโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ Q-Info ยังมีระบบแจ้งเตือนนักเรียนที่มีปัญหาเป็นรายคน ครูจึงช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยงหรือที่จะหลุดออกนอกระบบได้อย่างทันท่วงที  ขณะนี้อยู่ระหว่างวิจัยเพื่อขยายผลร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ใน 14 จังหวัดอื่นๆ จำนวน 201 แห่งทั่วประเทศ”

สำหรับระบบ Q-Info ที่นำมาใช้กับโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครภูเก็ตทั้ง 7 แห่ง นักเรียนจำนวน 8,541 คนและครู 413 คน พบว่า อัตราการขาดเรียนของเด็กนักเรียนลดลงถึงร้อยละ 30 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้นกว่าร้อยละ 50 โดยเด็กที่มีเกรดเฉลี่ยน้อยกว่า 1.5 ลดลงถึงร้อยละ 20 ลดค่าใช้จ่ายด้านการทำเอกสารของโรงเรียนได้ถึง 95,435 บาทต่อปีต่อโรงเรียน ข้อมูลยังทำให้เกิดเป็นพิมพ์เขียวการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต 2020 หรือ Phuket Education Blueprint for 2020 และสร้างให้เกิดวัฒนธรรมในการทำงานใหม่โดยเกิดการบูรณาการข้อมูลร่วมกันของทุกหน่วยงานโดยใช้ข้อมูลเป็นหัวใจและไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกันคือภูเก็ต Smart City

นางฉวี จิตต์สำรวย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสะปำ(มงคลวิทยา) ในสังกัด สพฐ. ที่ทดลองนำระบบ Q-info ไปใช้ระบุว่า ระบบนี้ช่วยให้การเก็บข้อมูลต่างๆ ของนักเรียนทำได้ง่ายขึ้น สามารถติดตามและแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดภาระงานด้านเอกสารต่างๆ ลงไปได้มาก ที่เห็นได้ชัดคือเด็กที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาระบบก็จะแจ้งเตือนขึ้นมาทันที  ข้อมูลและผลการเรียนในแต่ละรายวิชา ยังช่วยให้ผู้บริหารและครูยังสามารถเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับเด็กเป็นรายบุคคลได้อย่างทันท่วงที

“จากเดิมที่กว่าจะรู้ว่าเด็กหมดสิทธิ์สอบบางทีก็ปลายภาคแล้ว จะแก้ไขก็ไม่ทันทำให้เด็กเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย ข้อมูลยังทำให้ครูเห็นปัญหา เปลี่ยนมุมมองและมีเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนใหม่ โดยนำกระบวนการ PLC มาใช้การจัดการเรียนการสอนทุกสาระวิชา ควบคู่ไปกับการติดตามข้อมูลต่างๆ จาก Q-info เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข ที่สำคัญยังเกิดการส่งต่อข้อมูลของเด็กในแต่ละช่วงชั้นเพื่อให้เกิดการติดตามดูแลได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าในปีนี้จะมีเด็กที่ติด ร หรือหมดสิทธิ์สอบลดลงไปไม่เกินร้อยละ 2 จากเดิมที่เคยสูงถึงร้อยละ 20 และยังนำข้อมูลไปใช้กับการจัดอาหารกลางวันให้พอดีกับเด็กที่มาเรียนในแต่ละวันได้อีกด้วย”

ซึ่งการที่จะพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้ไปสู่การเป็น Smart City ได้นั้น ปัจจัยสำคัญคือการเตรียมความพร้อมและการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะความรู้และความสามารถสอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ สสค.และเทศบาลนครภูเก็ตดำเนินงานอยู่ภายใต้ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนากำลังคนหรือ Q-info ที่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ จะช่วยยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษา ส่งผลให้ทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพ พร้อมที่จะขับเคลื่อนไปสู่การเป็น Smart City ที่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ได้เป็นอย่างดี

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ