เด็กไทยโชว์เจ๋ง! ประกวด ITCi Award “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย”

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ร่วมจัดโครงการประกวด “ITCi Award” ในหัวข้อ“นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงความคิดอย่างสร้างสรรค์แสดงศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงวัย และเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดโอกาสทางธุรกิจทั้งไทยและตลาดโลก ซึ่งได้ผู้เข้ารอบแรกทั้งหมด 19 ทีม มาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทยที่พร้อมโชว์ไอเดียชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1,000,000 บาท ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2560 ณ ลานสยามสแควร์วัน ชั้น LG

 

 ทีมที่ 1  “เจ้าอุ่นใจ (Robot Nurse)” โดย “นายรวิรุจ บุตโคษาและนางสาวอินธุอร ปิลา” จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มาพร้อมกับ “เจ้าอุ่นใจ” ที่ถูกออกแบบให้เป็นหุ่นยนต์เพื่อช่วยเตือนการรับประทานยามีช่องจ่ายยาถึง 30 ช่อง สามารถตั้งเวลาการจ่ายยาได้ พร้อมทั้งติดกล้องให้คนในครอบครัวสามารถดูได้ว่า ผู้สูงอายุนั้นทำอะไรและอยู่ส่วนไหนของบ้าน ทั้งนี้เจ้าอุ่นใจยังทราบว่าผู้สูงอายุได้มีการหยิบยา ไปรับประทานหรือยังเจ้าอุ่นใจสามารถควบคุมได้โดยแอปพลิเคชัน เรียกได้ว่าสะดวกและตอบโจทย์ผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก

 

ทีมที่ 2  “TTB” โดย“นายนริศ อัศวเลิศศักดิ์, นายกิตติ ผ่องอักษรและนายไชยพร บุญญาเสถียร” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกับนวัตกรรม “Helper Chair”คือเบาะรองนั่งสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาตรงข้อกระดูกที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการลุกนั่ง โดยใช้หลักการเดียวกับอุปกรณ์ที่ใช้ยกรถยนต์ Helper Chair มีเซ็นเซอร์สามารถรับรู้และบันทึกน้ำหนักของผู้สูงอายุซึ่งมีผลกับการลุกนั่ง ที่สำคัญพร้อมใช้งานทันทีเมื่อผู้สูงอายุเดินเข้ามาในระยะที่เซ็นเซอร์จับถึง ออกแบบมาเพื่อให้ใช้ง่ายไม่ซับซ้อน ใช้งานในบ้านโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้า นอกบ้านใช้ระบบแบตเตอรี่

 

 ทีมที่  3  “Inspirative” โดย “นายจารุกิตติ์ ปานสี, นายศุขมิตร ทีฆเสนีย์และนายสุวพิช มณีพงษ์” มหาวิทยาลัยพะเยา มาพร้อมกับไอเดียที่ว่าทำอย่างไรถึงจะลดปัญหาผู้สูงอายุล้มในห้องน้ำได้ ด้วยการนำระบบอัจฉริยะ“F.D.Life” มาใช้เพื่อตรวจวัดการล้มในห้องน้ำ ซึ่งจะวัดค่าจากความสูงตั้งแต่ผู้สูงอายุเดินเข้าห้องน้ำ หากความสูงต่้ำกว่าระดับที่ตั้งค่าเครื่องไว้แสดงว่าเสี่ยงต่อการล้ม ระบบจะส่งสัญญาณเตือนเพื่อให้มีคนเข้ามาช่วยเหลือ เท่านั้นยังไม่พอ F.D.Lifeยังมีนวัตกรรมเสริมนั่นคือการวัดระยะเพื่อเป่าพื้นให้แห้ง ซึ่งระบบจะทำงานทันทีเมื่อพื้นห้องน้ำมีความชื้น(เปียก)เกินกว่าค่าที่กำหนดหรือหลังผู้สูงอายุใช้ห้องน้ำเสร็จ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการล้มได้เป็นอย่างดี

 

ทีมที่ 4 “42/39”โดย“นายภูมิพิชิต กองวะมุด, นายทศพนธ์ ธนะสุทธิพันธ์และนายปรัชญา วงโยโพ” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีผลงานนวัตกรรม “Glove Independ” มือช่วยจับเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ  เพิ่มความสะดวกในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ ของผู้สูงอายุ ซึ่งนวัตกรรมของถุงมือพิเศษนี้คือ สามารถระบายอากาศได้ดี สวมใส่ได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังติด GPS เพื่อบอกตำแหน่งผู้ใช้ภายในบ้านให้ผู้ดูแลทราบว่า ผู้สูงอายุอยู่ส่วนไหนภายในบ้าน




 

ทีมที่ 5  “Robot Fall Detector (RFD)” โดย “นายสรวิทญ์ พรหมนวล, นายเพชร จันทร์สุวรรณ์และนางสาวอนงค์นาถ เที่ยงตรง”มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  “Robot Fall Detector (RFD)” หุ่นยนต์สุดเจ๋งแจ้งเตือนการรับประทานอาหาร  ทานยาของผู้สูงอายุ สามารถอยู่เป็นเพื่อนคุยพูดจาทักทายคลายเหงา ใช้งานคู่กับสายรัดข้อมือขนาดกำลังพอเหมาะ ไม่ทำให้ผู้สูงอายุรำคาญ มีกล้องที่คอยสอดส่องดูแลผู้สูงอายุตลอดเวลาว่าผู้สูงอายุกำลังทำอะไรอยู่  ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเช่น ล้ม เจ้า Robot Fall Detector(RFD) จะส่งข้อความไปทางไลน์ที่ตั้งค่าไว้เพื่อแจ้งให้ญาติได้รับรู้และช่วยเหลือได้อย่างทันเวลา

 

ทีมที่ 6  “Stand by Me” โดย “นางสายรัก สอาดไพร, นายบารมี บุญมี” และ “นายชัยพัฒน์ ศรีขจรลาภ” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผลงานนวัตกรรม “Sit to Stand Trainer with Assessment of Balance Ability : An Apparatus for Rehabilitation and Exercise for Elderly at Home” เป็นเก้าอี้นวัตกรรมที่ช่วยประคองผู้สูงอายุให้ยืนด้วยตัวเองได้ หรือออกกำลังกายโดยผู้ใช้งานสามารถปรับแรงช่วยได้ตั้งแต่ 20-80% เก้าอี้เปลี่ยนได้ตามสรีระของผู้ใช้เหมาะกับผู้สูงอายุที่สูงตั้งแต่ 145-190 เซนติเมตร พัฒนาเพื่อให้ผู้ป่วยรถเข็นสามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น มีระบบโหมดการใช้งานถึง 3 โหมด ได้แก่ โหมดออกกำลังกาย ฝึกส่วนล่างของผู้ป่วยให้แข็งแรงเพื่อนำไปสู่การออกกำลังกายหรือการรักษาอื่นๆ ทางการแพทย์ต่อไป โหมดเกมฝึกสมองของผู้ป่วย เช่น นั่ง ยืนขาเดียว โหมดวัดการลุกนั่ง และเก็บสถิติ เพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการพบแพทย์

 

ทีมที่ 7  “มจพ.”โดย“นายปวริต วานิชขจร” และ“นายพงศกร สุรัตนะ” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือผลงานนวัตกรรม “เครื่องวัดความเต็มของผ้าอ้อมผู้สูงอายุ”  เครื่องมีขนาดบางและเบาลักษณะเป็นสติ๊กเกอร์สามารถถอดและแปะใหม่ได้ ไม่ทำให้ผู้สูงอายุรำคาญเหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เพียงแค่ติดไว้บนผ้าอ้อมที่ผู้สูงอายุสวมใส่ เซ็นเซอร์ก็จะทำงานประมวลความชื้นจากผ้าอ้อม หากความชื้นจากผ้าอ้อมสูงกว่าที่กำหนดก็เท่ากับว่าผ้าอ้อมเต็มถึงเวลาเปลี่ยน เซ็นเซอร์ก็จะส่งสัญญาณผ่านมือถือ หรือคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผู้ดูแลมาทำการเปลี่ยนผ้าอ้อม ทำให้ไม่ต้องคอยเช็คผ้าอ้อมตลอดเวลา

 

ทีมที่ 8  “ZINTAP”โดย “นายอนิส เชิญถนอมวงศ์, นายระพีพัฒน์ ชุนเซียง และนายอัครพล ปิยวินท์” มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับผลงานนวัตกรรม“สายรัดข้อมือระบุตำแหน่งผู้สูงอายุ หรือผู้พิการภายในบ้านหรืออาคาร โดยใช้ iBeacon” ซึ่งจะทำงานผ่านระบบบลูทูธ โดยจะติดตั้งบลูทูธไว้แต่ละจุดในบ้าน ทำให้การตรวจจับละเอียดขึ้นถึงขนาดที่บอกได้ว่าผู้สูงอายุอยู่ส่วนใดของบ้าน เช่น นั่งอยู่บนโซฟา นอนอยู่บนเตียงในห้องนอน เป็นต้น

 

ทีมที่ 9 “Space Walker” โดย“นายวรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร, นายรมณ์ พานิชกุล และนายเมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภา” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาพร้อมกับนวัตกรรม “Space Walker” เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เดินด้วยตัวเองได้อย่างลำบาก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ช่วยในการฝึกเดินทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยจะช่วยพยุงน้ำหนักของผู้สูงอายุ และช่วยในการเดิน ทั้งนี้ยังป้องกันการล้มหรือในกรณีที่ล้ม Space Walker จะป้องกันเข่าและศีรษะของผู้ใช้งานไม่ให้กระแทกพื้น ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่ายสะดวกในการพกพา

 

ทีมที่ 10  “พื้นพื้น” โดย“นางสาวอภิสรา วชิรพรพงศา และนายอนวัช พิพัฒน์กรกุล” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผลงานนวัตกรรม “Smart Floor”  พื้นอัจฉริยะเหมาะกับการใช้ในบ้านที่มีผู้สูงอายุสายตาไม่ดี เมื่อพื้นมีการเปียกน้ำจะเปลี่ยนสีทำให้ผู้สูงอายุทราบว่าจุดใดพื้นเปียกไม่ควรเดินไป ช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุภายในบ้าน Smart Floor ออกแบบให้มีพื้นผิวนุ่มกว่ากระเบื้องหรือพื้นปกติ สามารถติดตั้งง่าย ใช้ได้ทั้งแบบที่ติดตั้งใหม่และติดทับพื้นเดิมที่มีอยู่

 

ทีมที่ 11  “ข้าวโพด” โดย“นางสาวศิรินารถ ปล่องทอง นางสาวฐิราพร สุดอ่อน และ Mr. Sam Vithyea” มหาวิทยาลัยบูรพาผลงานนวัตกรรม“Hubidity Tape” อุปกรณ์วัดความชื้นของผ้าอ้อมเหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง มีขนาดเพียง 10 x 8 เซนติเมตร จึงไม่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกอึดอัดเพียงแค่ติด Hubidity Tape ที่เตียงหรือจุดที่ผู้ป่วยนั่งเมื่อผ้าอ้อมเต็มก็จะส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับสัญญาณทันทีเพื่อให้ผู้ดูแลได้ทำการเปลี่ยนผ้าอ้อม

 

ทีมที่ 12  “Color de Art” โดย “นายอนุกุล รัดสำโรงและนางสาวมินตรา มานะวุฑฒ์” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กับผลงานนวัตกรรม“Smart Illumintion for Elderly at Home” แสงภายในบ้านและในห้องนอนที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ซึ่งทีม Color de Artได้ศึกษางานวิจัยต่างๆ มาอย่างละเอียดและพบว่าการใช้แสงสามารถช่วยในการบำบัดรักษาได้ โดยใช้ไบโอเซ็นเซอร์ตรวจการเต้นของหัวใจ ด้วยอุณหภูมิแสง ปรับแสงให้เหมาะกับการเต้นของหัวใจ ใช้ร่วมกับสายรัดข้อมือที่ช่วยจับการเต้นของหัวใจ

 

ทีมที่ 13  “Xenon Technology”โดย“นายเกียรติศักดิ์ เกื้อขันสกุลและนายสุทัศน์ สุขจิต”  มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ผุดไอเดีย“เตียงอัฉริยะ สำหรับผุ้ป่วยติดเตียง ป้องกันแผลกดทับ”ออกแบบให้มีขนาดเท่ากับเตียงนอนของผู้ป่วย มีลักษณะคล้ายฝ้าปูที่นอน สามารถวัดระยะเวลาการนอนของผู้ป่วยได้ จับเวลาและรอบการพลิกตัวของผู้ป่วยติดเตียง เพื่อลดการเกิดแผลกดทับ พร้อมทั้งสามารถวัดความชื้นบนที่นอนเมื่อผู้ป่วยปัสสาวะ การใช้งานควบคุมและแสดงผลผ่านแอพพิเคชั่น

 

ทีมที่ 14  “Pot-Table” โดย “นางสาวสิรินดา มธุรสสุคนธ์” และ “นายพีรดนย์ พิมพกรรณ์” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนวัตกรรม“Pot-Table : อุปกรณ์ช่วยพยุงเครื่องใช้ในควรสำหรับผู้สูงอายุ” ว่ากันว่าผู้สูงอายุมักจะมีความสุขกับการทำอาหารโดย Pot-Table จะช่วยให้การหยิบ จับ ยก อุปกรณ์ในการทำอาหารภายในครัวเรือน เช่น หม้อ ของผู้สูงอายุปลอดภัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับข้อมือ ช่วยลดอุบัติเหตุในการประกอบอาหารของผู้สูอายุได้

 

 ทีมที่ 15  “BotTherapist”โดย “นายสุจิรัชย์ อัฏฐะวิบูลย์กุล,นางสาวเพ็ญพิชชา หวังลาวัลย์”และ “นายก้องเกียรติ รสหอมภิวัฒน์” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกับนวัตกรรม“หุ่นยนต์เครื่อนที่สำหรับเป็นเพื่อนผู้สูงอายุ พัฒนามาจากหุ่นที่ใช้กับเด็ก      ออทิสติก”ออกแบบมาเพื่อให้อยู่เป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุ รูปลักษณ์เป็นมิตร น่ารัก ภายในหุ่นยนต์มีเกมส์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ

 

ทีมที่ 16  “คนไทยไม่ทิ้งกัน”โดย“นายพีรณัฐ บรรจงกิจ”และ “นายสวิส สุวรรณนิขกุล” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือกับผลงานนวัตกรรม“กระเบื้องห้องน้ำอัจริยะ”  วัดแรงกดเพื่อช่วยให้รู้ว่าผู้สูงอายุล้มหรือไม่  โดยติดระบบเซนเซอร์ที่กระเบื้อง ซึ่งการเหยียบบนพื้นกระเบื้องของคนปกติจะอยู่ที่ไม่เกิน 4 แผ่น แต่ถ้าหากเซ็นเซอร์ที่กระเบื้องทำงานเกิน 7 แผ่นแสดงว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะล้มสูง ระบบจะส่งสัญญาณไปขอความช่วยเหลือกับผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวตามที่ตั้งค่าไว้ ซึ่งความพิเศษของนวัตกรรมนี้ คือภายในห้องน้ำจะติดสปีคเกอร์ไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินผู้สูงอายุก็สามารถเรียกขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

 

 ทีมที่ 17  “LifeCare” โดย“นายทองยศ ศรีเพ็ง,นายฤทธิไกร พักดี” และ“นายผดุงเกียรติ ขุมทอง”  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีผลงานนวัตกรรม “เครื่องอาบน้ำเอนกประสงค์” ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุอาบน้ำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีคนดูแล ใช้งานด้วยการดีไซน์การสั่งงานด้วยปุ่มกด และยังสามารถปรับอุณภูมิน้ำได้ตามต้องการ

 

ทีมที่ 18  “MERL X” โดย “นายนฤชา อมรดิษฐ์” และ“นายพีรศิลป์ เจริญยืนยาว” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบังกับผลงานนวัตกรรม “ฐานปฏิบัตการกึ่งอัตโนมัติ ข่วยใส่กางเกงให้ผู้สูงอายุ” ผลงานที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนกางเกงได้ด้วยตัวเองแบบปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการก้มเปลี่ยนกางเกง

 

ทีมที่ 19 “Memo i-Care” โดย“นางสาวพูนสิริ ใจลังการ์”และ“นางสาวเมธิณี แสงประดิษฐ์”มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกับผลงานนวัตกรรม“Memobot” หุ่นยนต์ช่วยจ่ายยา เหมาะสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ Memobotจะช่วยแจ้งเตือนการจ่ายยาและส่งยาให้ผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและตรงเวลา เมื่อถึงเวลารับประทานยาจะส่งเสียงเตือน ทั้งนี้เจ้า Memobotยังจะอยู่เป็นเพื่อนเล่นคลายเหงาให้ผู้สูงอายุได้อีกด้วย ด้วยรูปลักษณ์ที่เล็ก น่ารัก สัมผัสนุ่มให้ความรู้สึกเหมือนตุ๊กตาจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

 

และนี่คือสุดยอดนวัตกรรมสุดยอดจากผู้ที่ได้รับการคัดเลือกรอบแรกจากผู้เข้าประกวดทั่วประเทศไทย โดยทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 200,000 บาท พร้อมโล่รางวัล เกียรติบัตร และได้รับสิทธิ์เดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น รางวัลที่ 2 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร รางวัลที่ 3 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร ซึ่งรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นในศุกร์ ที่ 15  กันยายน 2560 ณ  ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโครงการประกวดได้ที่เว็บไซต์https://www.mtec.or.th/และเว็บไซต์https://www.facebook.com/ITCiAward