กระทรวงพลังงาน หนุน 10 ปี พลังงานชุมชน 1,676 แห่ง



นายกณพงศ์ เทพากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาพลังงานชุมชน ตั้งแต่ปี 2549 ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนโดยการผลักดันเชิงนโยบายสู่ภาคปฏิบัติและสนับสนุนงบประมาณสู่ระดับภูมิภาคของสำนักปลัดกระทรวงพลังงาน จากนสำนักงานพลังงานจังหวัดได้ดำเนินงานต่อในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกับการสร้างเวทีประชาคมระดับตำบลในชุมชน เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผ่านคณะทำงานตามศักยภาพความเหมาะสมของท้องถิ่น บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดแผนงานงบประมาณในท้องถิ่นของตนเอง ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“โครงการแผนพลังงานชุมชน 2549 – 2560 เป็นการดำเนินงานที่ครอบคลุมแผนพลังงาน 5 ด้าน คือ 1.พลังงานทดแทน 2.การอนุรักษ์พลังงาน 3.การพัฒนาบุคลากร 4.การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และ 5.บูรณาการกับมิติต่างๆ ในสังคม ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงพลังงานได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา แนะแนวทาง ให้ความรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมเรื่องพลังงานกับชุมชนเป็นจำนวนมาก พัฒนาอาชีพ รายได้ และศักยภาพความรู้เรื่องพลังงานให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ  ทำให้ชุมชนระดับตำบลสามารถยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการพลังงานอย่างครบวงจร เกิดผลเชิงประจักษ์ ประชาชนมีความเข้าใจ และมีทักษะในการนำศักยภาพด้านพลังงานของชุมชนมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีโครงการพลังงานชุมชน สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม กระทรวงพลังงาน ได้มีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่ออาสาสมัครพลังงานชุมชน วิสาหกิจชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานด้านการพัฒนาขยายผลพลังงานชุมชนร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีการคัดเลือกและมอบรางวัล “สุดยอดคนพลังงาน” ผ่านแนวคิด “พลังงานสร้างคน คนสร้างพลังงานยั่งยืน” ประจำปี พ.ศ. 2560 ในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ   โดยเริ่มครั้งที่ 1 ที่ภาคกลาง จากทั้งหมด 4 ภาคทั่วประเทศ เป็นการมอบรางวัลระดับจังหวัด และระดับภาค ณ วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

ในการคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมเข้ารับรางวัล “สุดยอดคนพลังงาน” แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค 4 ภาค และระดับประเทศ  โดยรางวัลแบ่งเป็น 4 สาขา ประกอบด้วย

1.สาขาอาสาสมัครพลังงานชุมชนยอดเยี่ยม

2.สาขาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการพลังงานครบวงจรยอดเยี่ยม

3. สาขาวิสาหกิจลดใช้พลังงานยอดเยี่ยม

4.สาขาโครงการพลังงานชุมชนแบบมีส่วนร่วมยอดเยี่ยม

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลระดับภาค และสำนักงานพลังงานจังหวัดจะได้รับเชิญเข้าร่วมในพิธีมอบรางวัล “สุดยอดคนพลังงาน” ระดับประเทศต่อไป อีกทั้ง ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรม Open House “กิจกรรมเปิดบ้าน...พลังงานชุมชน” อีกด้วย โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2560 ณ ห้องไดมอน ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต

นายเสรี กังวานกิจ พลังงานจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรี   ให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน เน้นการใช้พลังงานทดแทน เพิ่มขีดความสามารถด้านการเกษตรเชื่อมโยงอุตสาหกรรม พ.ศ.2561 – 2564 รวมทั้งหมด 5 แผน ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติด้านพลังงานและห่วงโซ่คุณค่าอย่างครบถ้วน รวมถึงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์พลังงานของประเทศ ตลอดจนสอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพด้านพลังงานในพื้นที่

จังหวัดสุพรรณบุรีได้ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและมุ่งส่งเสริมชุมชนในการพัฒนาศักยภาพพลังงานของแต่ละพื้นที่ โดยสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ชุมชน นอกจากนี้ จังหวัดได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ.2561 – 2564 รวมทั้งหมด 5 แผนด้วยกัน ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพด้านพลังงานทดแทนชุมขนของจังหวัดไปสู่รางวัลระดับประเทศในอนาคต”

 ปัจจุบัน โครงการแผนพลังงานชุมชน : Local Energy Planning  (LEP)  2549  - 2560 ได้สร้างอาสาสมัครพลังงานชุมชน (อสพน.) จำนวนกว่า 6,042 คน  โดย อสพน. คือประชาชนที่มีจิตอาสาทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อน และพัฒนาพลังงานไทย ด้วยแนวคิด รู้-รักษ์-ตระหนัก-สร้าง กระจายในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถสร้างทัศนคติ “พลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัว” เพิ่มศักยภาพ สร้างโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน รักษาสิ่งแวดล้อม โดย อาสาสมัครพลังงานชุมชนจะมีบทบาทที่หลากหลายตามความถนัด ความสนใจและพัฒนาตนเองต่อยอดไปสู่นักวิจัยพลังงาน 380 คน ช่างเทคโนโลยีพลังงานชุมชน 172 คน นักสื่อสารพลังงาน 2,879 คน วิทยากร 514 คน  

อีกทั้ง ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการได้สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน จำนวน  1,676 ชุมชน ก่อเกิดแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน 210 แห่ง เกิดอาชีพด้านพลังงานที่ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีพลังงานระดับชุมชนจำนวน 172 แห่ง สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงาน 56 สร้างโอกาสพัฒนาต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชนลดใช้พลังงานกว่า 188 กลุ่ม สามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานได้ 5 ล้านบาทต่อปี และลดจากการประหยัดพลังงานของบ้านตัวอย่างได้ 28 ล้านบาทต่อปี เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการได้กว่า 8 แสนบาทต่อปี  

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ