นายกฯ ยันรถไฟไทยจีนทุกอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้



เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า รัฐบาลได้กำหนดให้วันเข้าพรรษาของทุกปีเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันที่ 9 กรกฎาคม การงดดื่มสุราก็จะถือเป็นมหากุศล เพราะหากผิดศีลข้อ 5 แล้ว ย่อมมีโอกาสละเมิดศีลข้ออื่นได้โดยง่าย ในปี 2560 นี้ ตนได้ให้คำขวัญว่า “ห่างไกลสุรา ประชาเป็นสุข ปลอดภัยพาชาติไทยเจริญ”

ทั้งนี้ สุราก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งตัวผู้ดื่ม ครอบครัว บุคคลรอบข้าง การดื่มสุราก่อให้เกิดโรคภัยมากมายส่งผลถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สังคม และเศรษฐกิจ ดังนั้น ขอเชิญชวนชาวไทยทุกคน ลด ละ เลิกสุรา และช่วยกันปกป้องเยาวชนให้ห่างไกลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกระทรวงสาธารณสุข มีการรณรงค์และจัดกิจกรรมสนับสนุนการปฏิญาณตนงดดื่มสุรา ในช่วงเข้าพรรษา  และงดให้ครบพรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

อย่างไรก็ตาม ขอให้ทำความเข้าใจเรื่องรถไฟไทย-จีน อย่าสับสนในข้อมูล เป็นความร่วมมือ ระหว่างไทย-จีน แบบ “รัฐบาล ต่อ รัฐบาล” มีการร่วมมือกันมาหลายรัฐบาลแล้ว มีข้อตกลงร่วมกัน เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ก็เอามาสานต่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อจะเป็นการลงทุนในอนาคต เราจำเป็นต้องเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เชื่อมโยงกับประชาคมโลก เพราะฉะนั้นมีหลายประเด็น ที่ต้องพิจารณา คือ 

1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และระบบควบคุมการเดินรถ-อาณัติสัญญาณ เพราะฉะนั้น “ฝ่ายไทย” ก็ได้ตัดสินใจจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีกรอบการเจรจา วงเงินประมาณ 1.7 แสนล้านบาท  มีการต่อรองมาตลอด มีการเทียบราคาซึ่งกันและกัน ทั้งในและต่างประเทศ เราจะเป็นการจัดประมูลในส่วนของการก่อสร้าง ให้บริษัทไทยหรืออาจจะมีการร่วมทุนกับบริษัทสัญชาติไทย ดังนั้น ฝ่ายไทยจะรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และในการบริหารจัดการอื่น ๆ ในกรอบดังกล่าว โดยต้องเปรียบเทียบมาตลอดในการเจรจาทั้งหมด 18 ครั้ง

2.การร่วมลงทุนของจีนในลักษณะนี้ อาจจะเรียกได้ว่า จีนยังไม่เคยทำกับประเทศใด นอกจากจะใช้ระบบสัมปทานแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งเป็นการรับจ้างก่อสร้าง ส่วนมาตรฐานของจีนได้รับการยอมรับ เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีของจีน ไปใช้ก่อสร้างในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศในอาเซียนด้วย โดย “ฝ่ายไทย” ได้เลือกที่จะลงทุนเอง เนื่องจากหากเป็นระบบสัมปทาน ฝ่ายจีนจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ทั้งหมด

3.หาก “ฝ่ายไทย” เป็นเจ้าของก็จะมีกิจการเป็นผู้พัฒนา 2 ข้างทางเอง เพื่อจะดูในการสร้างเมืองใหม่ พัฒนาเป็นพื้นที่ประกอบการทางธุรกิจน้อยใหญ่ ที่พักอาศัยของชุมชน หรืออื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต

4.เราจำเป็นต้องไปดูเรื่องการแก้กฎหมาย การใช้พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคมจะต้องไปดูจะได้ไม่เสียประโยชน์ 5.จำเป็นต้องมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เพราะต้องมีการเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน คู่ขนานไปกับทางรถยนต์ ขณะเดียวกันต้องทำคู่ขนานกับการทำรถไฟไทยทางคู่ ซึ่งทั้งหมดจะทำได้หรือไม่ ปัญหาติดอยู่ที่คนบุกรุก พื้นที่ป่า การทำประชาพิจารณ์ ซึ่งถ้าเราปรับได้บ้าง เข้าใจกันบ้างก็จะเกิดได้ไม่เสียเวลา และจะได้ตามทันคนอื่นด้วย ในกรอบ One Belt , One Road (OBOR) ซึ่งวันนี้ประเทศลาว อยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมไปยังทางเดียวกับเรา เราต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ 

6.เราจำเป็นต้องปรับ รวมถึงจัดทำกฎหมายหลายฉบับ โดยพิจารณาตามความเหมาะสม และคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่เฉพาะ ไทย – จีน รวมทั้งอีก 64 ประเทศในกรอบ One Belt , One Road (OBOR) ควบคู่ไปด้วย

7.การจัดการประมูล ในส่วนที่ “ฝ่ายไทย” ลงทุนเอง เราจะต้องดำเนินการเองทั้งหมด ใช้แต่วิศวกรจากจีนมาเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมดำเนินการก่อสร้างภายใต้การทำงานของบริษัทก่อสร้างของเรา ซึ่งก็ต้องมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน

8.การพิจารณา “ความคุ้มทุน” อย่ามองเฉพาะจำนวนผู้โดยสารที่จะใช้บริการเท่านั้น ต้องมองผลประโยชน์สองข้างทางที่จะตามมาด้วย ถ้าคัดค้านทั้งหมด ธุรกิจเหล่านี้จะไม่เกิด ผลประโยชน์เหล่านี้ จะต้องกระจายลงไปยังแต่ละพื้นที่ที่เส้นทางพาดผ่าน ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่

9.การถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการก่อสร้างโดยวิศวกรของไทยอยู่ร่วมในการวางแผนก่อสร้าง ควบคุมงาน และอื่น ๆ ด้วย ซึ่งอยู่ในสัญญาที่จะต้องไปพูดคุย เจรจากันต่อ

10.ตนเองเชื่อมั่นในความศักยภาพของวิศวกรไทย ว่าสามารถเปิดรับเทคนิคและประสบการณ์ใหม่ ๆ จากเส้นทางนี้ได้

11.เส้นทางอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันจากหลาย ๆ ประเทศที่มีศักยภาพ และสนใจอยากมีส่วนร่วม ไม่ใช่ว่าทำเส้นนี้แล้วเส้นอื่นจะต้องเป็นแบบนี้

12.เทคนิคในการก่อสร้าง ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ระบบอาณัติสัญญาณต้องสามารถเชื่อมโยงกับโครงการต่อ ๆ ไปไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนก็ตาม เพื่อให้การเดินรถมีความปลอดภัย ต่อเนื่อง ราบรื่น และมีประสิทธิภาพ

13.การกำหนดราคา ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบการก่อสร้างในลักษณะเดียวกันจากประเทศอื่น รวมถึงการเจรจาต่อรอง วันนี้ตกลงอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งการดำเนินการทุกเรื่องจะต้องยึดผลประโยชน์ของชาติ คำนึงถึงหนี้สาธารณะต่าง ๆ ในอนาคต ให้อยู่ในกรอบการเงินการคลัง

14.การทำพันธะสัญญา ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) “ฝ่ายไทย” ดำเนินการโดยกระทรวงคมนาคม การรถไฟไทย “ฝ่ายจีน” เป็นไปตามหลักการทำธุรกิจของจีน คือ ให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชอบ โดยรับรองบริษัทที่จะมาทำการก่อสร้างกับไทยเท่านั้น

15.ขอร้องให้ทุกภาคส่วนมองในภาพกว้าง นึกถึงผลประโยชน์ในอนาคต ซึ่งตนเคารพในความคิดเห็นของทุกคนเสมอ เราจะต้องสรรหารูปแบบต่าง ๆ ในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีการพัฒนาฝีมือแรงงานพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการ

16.ตนได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการป้องกันการทุจริต จะต้องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน

17.มีหลายโครงการในความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรื่องรถไฟความเร็วสูง เป็นเพียงหนึ่ง เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การลงทุนร่วมกัน หรือการหาวิธีการแสวงหาความร่วมมือ มันจะช่วยพัฒนาความเชื่อมโยง และการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืนในระยะยาว และสนับสนุนความร่วมมือรูปแบบต่าง ๆ ที่จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น ในอนาคต จึงขอให้ทุกคนช่วยกันบูรณาการในทุกระดับ ที่มีส่วนร่วมในการเจรจา จนมีความก้าวหน้า ซึ่งรัฐบาลและ คสช. จำเป็นต้องใช้กฎหมายมาตรา 44 เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ ขอให้ทุกคนพยายามศึกษาทำความเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น รัฐบาลก็ยืนยันทุกอย่างมีข้อตกลงคุณธรรมเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ใครทุจริต ก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน ก็ตาม