จัดแถวการเมือง..มุ่งปฏิรูปจริงหรือ ??



"ไพรมารี่โหวต" หรือระบบการคัดเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แม้จะเป็นจุดแข็งของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมายลูก ว่าด้วยพรรคการเมือง

ด้วยเจตนาที่จะสร้างการมีส่วนร่วมและการเป็นร่วมเป็นเจ้าของในพรรคการเมือง แต่กำลังเป็นประเด็นหลัก ที่หลายฝ่ายกังวล ซึ่งรวมไปถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.ด้วย 

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลักการของร่างกฎหมายลูก ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าปฏิรูปพรรคการเมือง คู่ขนานกับแนวทางอื่น ๆ โดยเฉพาะกรณีที่สภาขับเคลื่อนประเทศ หรือ สปท. เห็นชอบแนวทางการสร้างกระบวนการรับรู้ในระบอบประชาธิปไตย และแนวทางที่คณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมือง เห็นควรจัดตั้งวิทยาลัยพัฒนาพรรคการเมือง

ซึ่งทั้งหมดอาจแตกต่างในทางปฏิบัติ และกลุ่มเป้าหมายในการขับเคลื่อน โดยกลุ่มหนึ่งคือประชาชน-ผู้ที่จะทำหน้าที่เลือกบุคคลเข้าสู่ถนนการเมือง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือนักการเมือง

โดยโมเดลแรก อาจพอสรุปความได้ว่า ปฏิรูปการเมืองกันที่ต้นทาง ด้วยแนวทางคิดจัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษา-อบรมบ่มเพาะคนการเมืองที่มีคุณภาพธรรมาภิบาล

แนวคิดของคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. คือโมเดลการจัดตั้ง "วิทยาลัยพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศ" เกิดขึ้นด้วยเจตนาที่จะบ่มเพาะ-สร้างบุคลากรทางการเมืองที่มีคุณภาพ มีจิตสำนึก และเข้าใจในหลักการของระบอบประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ 

ด้วยหลักคิดที่เชื่อว่า ปัญหาวิกฤติการเมืองไทยที่เกิดขึ้นซ้ำเป็นวงจรนั้น ส่วนสำคัญเกิดจากตัวนักการเมือง จึงสมควรที่จะมีสถาบันการศึกษาเฉพาะด้านการเมืองเพื่อสร้างคนการเมืองคุณภาพ ซึ่งโครงสร้างวิทยาลัยพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูป ตามที่วาดภาพไว้ จะมีลักษณะคล้ายกับการเรียนการสอนของคณะรัฐศาสตร์ หรือคณะนิติศาสตร์ ในสถาบันอุดมศึกษา

เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง วิชาที่เปิดสอนจะเน้นเฉพาะศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือนักการเมืองในระบบ และผู้ที่จะก้าวเข้าสู่ถนนการเมือง โดยเชื่อมั่นถึงผลสัมฤทธิ์ คือการปฏิรูปพรรค ปฏิรูปคน และปลายทางสุดท้าย คือ การปฏิรูปการเมือง

ปฏิรูปพรรคการเมือง ปฏิรูปนักการเมืองแล้ว ก็คงต้องปฏิรูปที่ต้นทาง หรือ ประชาชน...ด่านแรก-ด่านสำคัญ ของการคัดกรองบุคคลเข้าสู่เส้นทางการเมืองไปพร้อมๆกันด้วย และอีกโมเดลหนึ่งที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง ริเริ่มผลักดัน 

นั่นก็คือร่างพ.ร.บ.เสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ผ่านความเห็นชอบจาก สปท.ไปแล้ว และเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ต่อไป

โดยสาระสำคัญ คือการกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 

โดยคณะกรรมการตามร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีบทบาทจัดทำแผนแม่บทในการกล่อมเกลา-ปลูกฝังค่านิยม และทัศนคติทางการเมือง ผ่านการจัดทำหลักสูตรในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนการให้ความรู้-ความเข้าใจกับประชาชน ด้วยเจตนาที่จะสร้างการรับรู้ในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง และถือเป็นเส้นทางที่จะได้มาซึ่งบุคคลเข้าสู่ถนนการเมืองอย่างมีคุณภาพ 

ทั้งวิทยาลัยพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูป และการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองผ่านหลักสูตรการศึกษา ต้องยอมรับครับว่า ยังต้องใช้เวลาให้มีผลเป็นรูปธรรม แต่สำหรับร่างกฎหมาย ที่กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้อบปฏิรูปการเมือง ผ่านการจัดการเลือกตั้ง แม้จะผ่านความเห็นชอบของ สนช. ไปแล้วทั้ง 2 ฉบับ 

นั่นคือร่างฯ ว่าด้วย กกต. และร่างฯ ที่ว่าด้วยพรรคการเมือง แต่ทั้ง 2 ฉบับก็ยังต้องหาจุดร่วม ที่เห็นตรงกัน โดยร่างฯ กกต. นั้น ทาง กกต. เตรียมจะพิจารณาความเห็นแย้ง เรื่องคุณสมบัติ กกต. ชุดปัจจุบัน ส่วนร่างฯ พรรคการเมือง ประธาน กรธ. เตรียมนัดหมาย กกต. หารือถึงแนวทางปฏิบัติและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีระบบไพรมารี่โหวต 

ประธาน"มีชัย ฤชุพันธุ์" นัดหมาย กกต. หารือร่างกฎหมายลูก ฉบับพรรคการเมือง ส่วน กกต. จะหารือกันเองเป็นครั้งที่ 2 กรณีร่างฯ กกต. กับประเด็นคุณสมบัติ กกต.ชุดปัจจุบัน 22 มิถุนายนนี้

เพราะแม้อำนาจการพิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายจะเป็นของ สนช. แต่ในฐานะผู้ยกร่างฯ และฝ่ายปฏิบัติตามร่างกฎหมาย ต่างก็ต้องมีความเห็นร่วม เพื่อการยอมรับในการบังคับใช้กฎหมายและการฏิรูปร่วมกัน

 

เขียน : ต้นไม้ politics