ก.วิทย์ฯ คัดเมนูเจ๋งเสิร์ฟ นายกฯ หุงข้าวหอมชลสิทธิ์ คู่ กุ้งกุลาดำโอเมก้าผัดพริกเกลือ

(27เมย.60) ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3 โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเจ้าภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามงานที่ได้มอบหมายให้ไปปฏิบัติ โดยการประชุมครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าภาพ ได้จัดเตรียมเมนูอาหารไว้สำหรับเสิร์ฟนายกรัฐมนตรีและผู้เข้าร่วมประชุม โดยเมนูส่วนหนึ่งมาจากผลการวิจัยพัฒนาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เริ่มจาก ข้าวหอมชลสิทธิ์ ที่พัฒนาสายพันธุ์จากการผสมระหว่างข้าวทนน้ำท่วม IR57514 และข้าวพันธุ์ดอกมะลิ 105 จนได้ข้าวที่มีผลผลิตสูงเมื่อนำมาหุงมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน เสิร์ฟคู่กับเมนูอาหารจานเด่น อาทิ กุ้งกุลาดำโอเมก้าผัดพริกเกลือกับผักรวมอบกึ่งสำเร็จรูป โดยกุ้งกุลาดำโอเมก้านั้น พัฒนาจากกุ้งกุลาดำซึ่งเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ตและพังงา โดย สวทช.พัฒนาให้เป็นกุ้งกุลาดำโอเมก้าซึ่งจําเป็นต่อมนุษย์ทั้งในแง่ของการพัฒนาเซลล์ประสาทและสมอง รวมทั้งการ ป้องกันและควบคุมโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ และเป็นสินค้าในระดับพรีเมี่ยมของคนรักสุขภาพ 


นอกจากนี้ ยังมีมะเขือเทศสมูทตี้ ที่ใช้มะเขือเทศพันธุ์ดี จากการวิจัยของ สวทช.ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนาสายพันธุ์มะเขือเทศให้มีสาระสำคัญสูง จนนำมาผลิตเป็นสมูทตี้ 4 สี คือ แดง เหลือง ส้ม น้ำตาลม่วง ปลอดภัยต่อสุขภาพ รสชาติอร่อย รับประทานคู่กับ เบเกอรี่ที่ผลิตจากฟลาวแป้งมันสำปะหลัง ที่ได้รับการพัฒนากระบวนการผลิตจนได้ฟลาวแป้งไซยาไนต์ต่ำปลอดภัยต่อสุขภาพที่สำคัญลดการใช้แป้งสาลีในการทำเบเกอรี

ต่าง ๆ ด้วย ขณะเดียวกันก็ได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชน อ.นาแห้ว จ.เลย คือ มะคาเดเมียอบเกลือ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดย สวทช.




ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการจัดนิทรรศการ เพื่อนำเสนอผลงานต่าง ๆ ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่น่าสนใจคือ ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส  โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งมีบริษัทอาหารชั้นนำทั้งในประเทศ และประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมโครงการ และตั้งห้องปฏิบัติการในพื้นที่ฟู้ดอินโนโพลิส รวมทั้งได้โชว์ผลการพัฒนากรรมวิธีในการเลี้ยงถั่งเช่า ของบริษัทเซโก้ โดยใช้แสงซินโครตรอนพัฒนาชิ้นส่วนตัวควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง ที่ใช้ในระบบ ทำให้ได้ถั่งเช่า ที่มีคุณภาพสูง มีปริมาณสารอะดีโนซีนสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด

 

ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในประเทศ และเป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรกร “Smart farmer” ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย โดยเทคโนโลยีดังกล่าว เป็นของ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายของเมืองนวัตกรรมอาหาร นอกจากนี้ ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ของ  บริษัทไทยโอซูก้า บริษัทในเครือ โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล แฟคตอรี่ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเข้าร่วมเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร และมีแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ชนิดใหม่ ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง 


นอกจากนี้แล้ว เมืองนวัตกรรมอาหารและหน่วยงานภาคี ยังได้ร่วมมือกับบริษัทสวีทแอนด์อินเว้นท์ จำกัด ในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางด้านกลิ่นอาหาร ที่ยังประสบปัญหาความขาดแคลนในประเทศไทย เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพ และเพียงพอต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย อีกทั้งยังมีแผนพัฒนากลิ่นอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศเพื่อลดการนำเข้า และเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในประเทศไทย รวมถึงการสร้างเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านอุตสาหกรรมด้านกลิ่นอาหารของไทย โดยจะนำตัวแทนผลไม้ไทย เช่น มะม่วงอกร่องทอง มะพร้าวน้ำหอมสามพราน ส้มเขียวหวานบางมด เป็นต้นแบบเพื่อสร้างกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและนำเสนอสู่ตลาดโลกต่อไป

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ