สสส. หนุนจัดทำหนังสือนิทาน“พลังจิตใต้สำนึก หนูน้อยใจเข้มแข็ง ไม่เอาพนัน”

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการ “พลังจิตใต้สำนึก หนูน้อยใจเข้มแข็ง” และ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เปิดตัวหนังสือนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย ชุด “พลังจิตใต้สำนึก หนูน้อยใจเข้มแข็ง ไม่เอาพนัน” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเตรียมขยายผลในการจัดทำละครเด็กและกิจกรรมต่างๆ เพื่อปลูกฝังทัศนคติให้ตระหนักถึงโทษพิษภัยของการพนันที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนต่อไป


จากผลสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบของการพนันในประเทศไทย ปี 2558 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป กว่า 70% มีประสบการณ์การเล่นพนัน  ในจำนวนนี้กว่า 60% เริ่มเล่นครั้งแรกเมื่ออายุยังไม่ถึง 20 ปี และอายุที่น้อยที่สุดที่พบคือ 7 ปี   และเมื่อมองในมิติของครอบครัวก็พบว่า กว่า 3 ใน 4 ของครอบครัวไทยมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คนในครอบครัวที่เล่นการพนัน โดยการพนันที่เข้าถึงคนไทยมากที่สุดคือ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน และไพ่ ถัดมาคือพนันทายผลกีฬา เช่น ฟุตบอลหรือมวย และการพนันจำพวกไฮโลโปปั่น  ขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมทางสังคมก็มีการใช้กิจกรรมการเสี่ยงโชคมาเป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการขายสินค้า เช่น การเปิดฝาขวด หรือฉลากสินค้าแล้วให้ส่ง SMS มาชิงโชค โดยมีรางวัลใหญ่เป็นทอง เป็นรถ เป็นบ้าน ที่ล้วนกระตุ้นยั่วยุให้คนอยากเสี่ยงโชค  สสส. จึงสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายร่วมช่วยกันปกป้องเด็กและเยาวชนโดยให้เรียนรู้ทักษะชีวิตเพื่อการรู้เท่าทัน

และเริ่มต้นปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้องตั้งแต่เด็กปฐมวัย

รองศาสตราจารย์ ดร. สายฤดี  วรกิจโภคาทร  หัวหน้าโครงการพลังจิตใต้สำนึก  หนูน้อย ใจเข้มแข็ง กล่าวว่า “เด็กปฐมวัยมีครอบครัวเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตที่สำคัญ หากอยู่ในครอบครัวที่เล่นพนันก็จะเรียนรู้และซึมซับพฤติกรรมการพนันจากคนในบ้านแบบไม่รู้ตัว จนจิตใต้สำนึกของเด็กคุ้นเคยและยอมรับ ในขณะที่กิจกรรม โฆษณา ตลอดจนสื่อสาธารณะหลายประเภทก็นำเสนอเนื้อหาลักษณะที่เข้าข่ายส่งเสริมการพนัน รวมถึงในรายการเล่าข่าว เช่น การชี้แนะเน้นย้ำตัวเลขที่ปรากฏในข่าวเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้รับสารนำไปเสี่ยงโชค หรือการมีรางวัลล่อใจ เป็นต้น จนราวกับเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต   โครงการฯ จึงได้ดำเนินการแนวรุกโดยสร้างสื่อหนังสือนิทานชุด พลังจิตใต้สำนึก หนูน้อยใจเข้มแข็ง ไม่เอาพนัน เพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในระดับจิตใต้สำนึก เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างภูมิคุ้มกันต่อพฤติกรรมเสี่ยงในการเล่นพนัน และเป็นสื่อแห่งความสุขที่ทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลากับลูกหลานมากขึ้น เพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ  รู้ถูกผิด สามารถคิดและตัดสินใจในทางที่ถูกที่ควรได้ด้วยตนเอง”
 



 
สำนักงานกองทุนสนับสนับการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำนวัตกรรมชุดนิทานต้นแบบระดับเด็กปฐมวัย ชุด “พลังจิตใต้สำนึก หนูน้อยใจเข้มแข็ง ไม่เอาพนัน”     รวม 7 เล่มคือ หางฟู หูแหลม, เชื่อช้าง, หนูน้อยแก้มแดง, สัตว์ประหลาด, คุณตากับปลายักษ์มหึมา, มิมิ มะมะ, และ ตืด ตืด    โดยในตอนท้ายของหนังสือนิทานแต่ละเล่มจะมีกิจกรรมชวนกันทำ และคำถามชวนกันคิด เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการเรียนรู้อีกด้วย  นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ อีก 3 เล่ม ได้แก่ เป่ายิ้งฉุบ, หนูรู้ทัน, และ ป่าต้องห้าม    

นายธนากร คมกฤส  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน  ผู้ดูแลแผนงานรณรงค์หยุดพนันของ สสส. กล่าวว่า “ถ้าถามว่าคนไทยมีนิสัยการเล่นการพนันที่มากกว่าคนชาติอื่นไหม  ก็ยืนยันได้ว่าไม่ได้แตกต่างกัน แต่ที่เป็นความแตกต่างคือ ชาติอื่นๆ มีมาตรการทางสังคมที่แข็งแรงกว่าเรา  เช่น มีหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กรู้เท่าทันการพนัน  มีการรณรงค์สร้างความตื่นตัวอย่างต่อเนื่องจริงจังเพื่อให้ผู้คนในสังคมตระหนักในผลกระทบของการพนัน  มีบริการให้คำปรึกษาและเยียวยาผู้รับผลกระทบของการพนันที่มากเพียงพอ  และที่สำคัญคือ มีหน่วยงานที่หลากหลายที่ทำงานเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการพนันในสังคม  โดยมีกองทุนที่เกิดจากการเก็บภาษีจากกิจการพนัน เช่น ล็อตเตอรี่ นำมาสนับสนุนการทำงานทางสังคม

การที่ สสส. สนับสนุนให้มีการผลิตชุดนิทานเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัย เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการปลูกฝังตั้งแต่เด็กตอนที่เขายังเข้าไม่ถึงการพนัน จะช่วยป้องกันปัญหาได้ดีกว่า และเราพบว่าเมื่อเด็กๆ เกิดการเรียนรู้ก็จะส่งผลกระทบไปสู่การเรียนรู้ของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย เช่นเดียวกับเรื่องเหล้าและบุหรี่ ที่เสียงของเด็กสามารถทำให้ผู้ใหญ่หลายคนเปลี่ยนใจเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ได้ กรณีการพนันก็เหมือนกัน ถ้าเด็กเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าข้องเกี่ยว เขาก็จะส่งเสียงไปยังพ่อแม่ และคนใกล้ชิด ซึ่งก็น่าจะส่งผลให้ผู้ใหญ่เกิดความตระหนักสำนึกที่มากขึ้น  จากนี้ไป สสส. จะกระจายนิทานชุดนี้ไปสู่พื้นที่การทำงานของเครือข่ายร่วมรณรงค์หยุดพนัน และเครือข่ายส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่กระจายอยู่ราว 20 จังหวัด ทุกภาคทั่วประเทศ และมีแผนจะจัดอบรมกระบวนการใช้สื่อนิทานและเพลงชุดนี้ให้แก่ครูโรงเรียนอนุบาล  ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และอาสาสมัครของศูนย์พัฒนาครอบครัวประจำตำบลในระยะต่อไป”
โรงเรียนระดับปฐมวัยและชุมชนที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน facebook.com/ stopgamblingnetwork
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ