“ห้องเรียนชุมชน” สู่วัฒนธรรมการอ่านของเด็กไทย

หลังจากรัฐบาลบรรจุให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้ ปี 2552 -2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน พร้อมทั้งมีแนวทางส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นแก่คนในชาติ ทว่าที่ผ่านมาการอ่านกับคนไทยกลับไม่กระเตื้องเท่าที่ควร  จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจในปี 2558 และเผยแพร่ผลสำรวจในปี 2559 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ มีการขยายนิยามของ“การอ่าน”นอกจากอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ ตำรา ยังหมายรวมถึงการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ SMS และ E-mail ด้วย โดยพบว่า คนไทยใช้เวลาในการอ่าน“เฉลี่ย 66 นาที/วัน” 

แม้จากสถิติข้างต้นสะท้อนว่าการอ่านยังไม่เป็นวัฒนธรรมของคนไทย รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงสื่อการอ่านยังมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนเมืองและคนชนบทมากนัก โดยเฉพาะตัวเลขการอ่านหนังสือของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่ควรได้รับการปลูกฝัง พบว่ายังคงน่าเป็นห่วง


เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้านดู่ ตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โรงเรียนระดับประถมศึกษา เปิดสอนตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 168 คน ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนยังมีปัญหาเรื่องเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

 

จากปัญหาดังกล่าวนายอดิศักดิ์ ไสว ผู้อำนวยการโรงเรียน จึงร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาจัดกิจกรรมอ่านหนังสือให้ผู้ใหญ่ฟัง แบ่งเป็น 2 กิจกรรม คือ 1.กิจกรรมในโรงรียน แบ่งนักเรียนในโรงเรียนออกเป็น 8 กลุ่ม ๆ ละประมาณ 20 คน ในทุกๆเช้าหลังเข้าแถวเคารพธงชาติ นักเรียนทั้งหมดจะเข้าห้องประชุมของโรงเรียนเพื่อฟังเพื่อนกลุ่มที่ถึงคิวอ่านหนังสือให้ผู้อำนวยการฟัง

ส่วนกิจกรรมในชุมชนคือ นักเรียนแต่ละคนจะได้รับมอบหมายงานจากคุณครูผู้สอนให้ไปอ่านหนังสือให้ผู้นำในชุมชนหรือผู้ปกครองของตนเองฟัง เมื่ออ่านเสร็จแล้วผู้นำหรือผู้ปกครองจะให้ความเห็นต่อการอ่านของนักเรียน เพื่อนำกลับมาส่งคุณครู กิจกรรมนี้ดำเนินมาได้ 2 ปีแล้ว ซึ่งสามารถกระตุ้นให้นักเรียนสนใจฝึกฝนการอ่านมากขึ้นระดับหนึ่ง

 

ขณะที่ในมุมมองของเยาวชนบ้านดู่ด้วยกันเองอย่าง ซัน-อภิชญา เทาศิริ  ครีม-สุจิตรา สายจันทร์ ปาล์ม- สุกัญญา บุษบา แซน-ณัฐณิชา เทาศิริ และนัด-อภิภาวดี วัตรจันทร์ ในฐานะศิษย์เก่าของโรงเรียน เห็นปัญหาดังกล่าวและมองเห็นความสามารถของตนเองในการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระผู้ใหญ่ เมื่อพี่ ๆ จากโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) ชักชวนให้ทำกิจกรรม พวกเขาจึงรวมกลุ่มกันทำโครงการชวนน้องอ่าน สานความรู้สู่มือน้อง โดยมองว่าการศึกษาในระบบไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ของน้องๆ ดังนั้นการเรียนรู้นอกห้องเรียนในแบบฉบับของพี่สอนน้อง จึงถือเป็นความพิเศษในการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ไปด้วยกัน รวมทั้งเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กวัยเดียวกันและหวังว่า กิจกรรมที่ทำจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างการเรียนรู้ให้น้อง ๆ อ่านออกเขียนได้ และรักการอ่านมากขึ้น

กลุ่มเป้าหมายของโครงการเน้นนักเรียนชั้น ป.4- ป.6 ที่อาศัยอยู่หมู่ 2 และหมู่ 8 ซึ่งใกล้เคียงกับพื้นที่โรงเรียนบ้านดู่ เพื่อความสะดวกในการรวมตัวทำกิจกรรม จากนั้นทีมงานได้เข้าพบผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดู่ แนะนำโครงการและขออนุญาตทำกิจกรรมกับน้องๆ ซึ่งผลการตอบรับมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการถึง 40 คน

กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน ที่ทีมงานเยาวชนออกแบบคือ การเล่นเกมต่างๆ เพื่อความสนุกสนาน แฝงเนื้อหาสาระที่การสะท้อนบทเรียนการเรียนรู้ โดยหลังจบเกมแต่ละครั้ง ทีมงานจะสร้างเงื่อนไขให้น้องๆ พูดแสดงความคิดเห็น พร้อมการรับฟังและต้องมีการจดบันทึก รวมถึงต้องอ่านให้เพื่อนฟังด้วย เช่น การสะท้อนความรู้สึกหลังเล่นเกมว่า รู้สึกอย่างไร เขียนประโยชน์จากการเล่นเกมลงในกระดาษบรู๊ฟแล้วออกมานำเสนอเป็นกลุ่ม บางครั้งทีมงานต้องยอมให้น้องพูดเป็นภาษาถิ่นบ้าง เพราะต้องการฝึกให้น้องกล้าพูดก่อน  

 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมร่วมกับชุมชนโดยให้คนเฒ่าคนแก่ที่มีความสามารถเล่านิทานพื้นบ้าน มาเล่านิทานให้น้องๆ ฟัง กิจกรรมนี้นอกจากสร้างการเรียนรู้ด้านการฟังแล้ว ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยและเห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านในการถ่ายทอดจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนสู่ลูกหลานด้วย ดังนั้นนิทานเรื่องนางสิบสองและพระรถเมรีในเวอร์ชั่นคุณยาย จึงได้รับความสนใจจากเด็ก และผู้ใหญ่ที่มาล้อมวงกันฟัง เสียงโต้แย้งสอดแทรกเป็นระยะๆ จากผู้เฒ่าผู้แก่ที่ร่วมรับฟัง สร้างสีสันความสนุกสนานให้แก่วงเล่านิทาน รอยยิ้มของผู้เฒ่าผู้แก่ ประสานเสียงหัวเราะจากผู้เยาว์ เป็นภาพความสัมพันธ์ที่ถูกรื้อฟื้นให้เกิดความชิดใกล้โดยไม่ตั้งใจ

 

การสะท้อนความรู้สึกหลังการเรียนรู้ครั้งนี้ น้อง ๆ ส่วนใหญ่ต่างบอกว่า ไม่เคยได้ฟังเรื่องราวนิทานแบบฉบับนี้มาก่อน แม้ว่าจะเคยอ่านนิทานทั้งสองเรื่องผ่านตา หรือได้ยินผ่านหูมาบ้าง แต่อรรถรสในการฟังครั้งนี้ต่างออกไป อาจจะด้วยเพราะคุณยายเล่าเป็นภาษาลาว ทำให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้รู้จักคำแปลกใหม่ในภาษาพื้นถิ่นของตนเองมากขึ้น

ด้านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดู่ กล่าวว่า โครงการชวนน้องอ่าน สานความรู้สู่มือน้องถือเป็นกิจกรรมที่ดี เพราะทำให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังเติมเต็มในส่วนที่โรงเรียนต้องการพัฒนาด้วย ขณะเดียวกันทางโรงเรียนได้ให้การสนับสนุนด้านสถานที่ และบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรม โดยมองว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นแนวทางให้การช่วยบางเบาภาระการสอนของครูในโรงเรียนซึ่งมีอยู่เพียง 9 คน เท่านั้น อีกทั้งเด็กวัยประถมศึกษาเป็นวัยที่จะต้องค่อย ๆ สอนทีละน้อย ยิ่งเป็นการเล่นปนเรียนยิ่งทำให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ ทั้งยังเป็นการสร้างพื้นฐานในการรักการอ่านและการเรียนรู้ที่ดีด้วย  

 

การลุกขึ้นขยับของเยาวชนบ้านดู่สื่อให้เห็นว่า หากลงมือทำอย่างจริงจัง ผ่านความร่วมมือกันระหว่างผู้ใหญ่ในชุมชน ครู และเด็ก นำมาซึ่งการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยแต่ละคนวางบทบาทความถนัดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์ชุมชนที่ถ่ายทอดเรื่องเล่า หรือบทบาทของโรงเรียนและครู ที่ต้องคัดกรองหนังสือให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย จะชวนให้เด็กสามารถซึมซับการอ่านได้โดยอัตโนมัติ และเชื่อว่าหากมีการต่อยอดหรือขยายแนวคิดสู่ชุมชนอื่น จะทำให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมการอ่านหนังสือในเด็กและผู้ใหญ่ได้อย่างแพร่หลาย และจะเป็นแรงผลักดันให้การอ่านกลายเป็นวัฒนธรรมของเด็กไทยได้ในที่สุด