ภัยแล้ง !! ชาวนา"โง่-จน-เจ็บ"ซ้ำซาก

"ผมเป็นห่วงเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเต็มที่ วันนี้เริ่มจะเข้าสถานการณ์ฤดูแล้งอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันระมัดระวังปัญหาภัยแล้งในปีนี้ตั้งแต่ต้น ซึ่งน่าจะไม่รุนแรงเท่ากับหน้าแล้งในปีที่ผ่านมา แต่ก็ประมาทไม่ได้

 เรื่องฝนฟ้าคาดเดาได้ยาก ปีนี้เราอาจจะพอมีน้ำใช้อุปโภค บริโภค ใช้ในการผลิต เพาะปลูกได้พอสมควร แต่ไม่ได้หมายความว่า จะใช้ได้อย่างฟุ่มเฟือย

 อย่าเห็นว่ามีมากใช้มากไม่ได้ น้ำนี้ยิ่งมีมากยิ่งต้องใช้น้อย เพราะว่าต้องเผื่อแผ่ไปในระยะเวลาอีกยาวนาน กว่าฝนจะมา วันหน้าฝนจะมามากมาน้อย จะเก็บน้ำไว้ได้เท่าไร วันนี้ระบบส่งน้ำก็ยังไม่สมบูรณ์" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าว

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า ประเทศไทย ได้เข้าสู่ฤดูร้อน อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ต่างห่วงใยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพี่น้องประชาชน ที่จะตามมาเป็นลูกโซ่ อย่างอื่นๆด้วย

ทนงศักดิ์ อะโน , รัตนา หอมวิเชียร และคณะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เคยศึกษาวิจัย การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ศักยภาพเชิงพื้นที่

โดยชี้ชัดว่า ประเทศไทย ในสถานการณ์ภัยแล้ง ในระดับพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ต้องประเมินสถานการณ์ให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด จึงจะประเมินความเสี่ยงได้ถูกต้อง

"ภาคการเกษตรใช้น้ำกว่าร้อยละ 90 ของน้ำทั้งหมด ดังนั้นสถานการณ์การขาดแคลนน้ำ จึงขึ้นอยู่กับความต้องการของภาคเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าว

ซึ่งภัยแล้ง จัดเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่มีจำนวนเสียหาย ทางเศรษฐกิจและสังคม มีผลกระทบตรงต่อผลิตผลทางเกษตร และมีผลกระทบทางอ้อม อาทิ ทิ้งร้างที่ดินทำกิน อพยพละทิ้งที่อยู่อาศัยไปหางานทำ"

ต้องยอมรับแม้หน่วยงาน จะป่าวประกาศ เพื่อให้เกษตรกรรับทราบ ถึงปริมาณน้ำที่ใช้ได้ แต่รูปธรรมที่ปรากฎจริง ชาวนายังปลูกข้าวนาปรังมากกว่าแผนที่รัฐฯได้บริหารจัดการน้ำไว้ แม้ทั้งๆที่รู้ว่า ผลกระทบที่ติดมา คืออะไรและอย่างไรด้วย..??



โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาตรการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง โดยหาทางให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน

ทั้งนี้ 6 มาตรการลดความเสี่ยง จากภัยแล้งด้านการเกษตร ประกอบด้วย

1.มาตรการส่งเสริมความรู้ เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง
2.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้น้ำเพื่อการเกษตร
3.มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

4.มาตรการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย
5.มาตรการสร้างความรู้และประชาสัมพันธ์
6.มาตรการจัดทำแผนความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เพื่อให้ทราบลำดับความรุนแรงของภัยแล้งแต่ละพื้นที่ ของภาครัฐฯทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ สำหรับการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ

เพื่อลดความขัดแย้งการจัดสรรน้ำ และแก้ปัญหาภัยแล้ง ชนิดที่ไม่ตอกย้ำ ชาวนาหรือ เกษตรกร รายปี ชนิดต้อง "โง่-จน-เจ็บ"ซ้ำซากอีกต่อไปด้วย