Trading Firm ฟันเฟืองสำคัญสร้างชาติการค้า


ประเทศไทยจะต้องเป็นชาติการค้าในปี 2579 คือหนึ่งในเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และโดยความหมาย ชาติการค้า คือ ชาติที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ที่พัฒนาชาติการค้าจากการตั้งต้นสร้าง  บริษัทที่ทำธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้า โดยไม่ได้มีฐานการผลิตสินค้าในประเทศตนเอง  หรือ เรียกสั้นๆว่า trading firm ให้เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการค้า

รวมถึงเกาหลีใต้ ที่มีบริษัทขนาดใหญ่เช่น Samsung หรือ Daewoo  ก่อนที่จะมาเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หรือรถยนต์ก็เป็น trading firm มาก่อน เช่น Samsung ช่วงก่อตั้ง เป็นบริษัทส่งออกปลาแห้ง และผักผลไม้ไปแมนจูเรียและปักกิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นประมาณหนึ่งทศวรรษจึงเริ่มมี โรงงานผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรทัศน์ ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของโลก

ประเทศไทยยังขาดบริษัท trading ที่สามารถทำหน้าที่ในการเสาะหาตลาดในต่างประเทศ และสินค้าในประเทศเนื่องจากผู้ประกอบการไทยส่วนมากโตมาจากการเป็นผู้ผลิตสินค้ามากกว่าผู้ค้าสินค้า  อย่างไรก็ดี  ผู้ผลิตสินค้าส่งออกรายใหญ่ของประเทศไทยที่มีแบรนด์ของตนเอง เช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย หรือ  AIIZ ก็เริ่มที่จะผันตัวมาเป็น trader มากขึ้น เริ่มจากการค้าขายสินค้าของตนเองก่อน  แต่เมื่อมีความคุ้นเคยกับผู้นำเข้าในต่างประเทศแล้ว  ก็สามารถขยายกรอบธุรกิจให้ครอบคลุมถึงการทำการตลาดและการจัดจำหน่ายเองด้วย  โดยมีการสรรหาสินค้าจากแหล่งอื่นๆ มาเสริมกับสินค้าของตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ในอดีต ประเทศไทยเคยมีมาตรการในการส่งเสริม Trading Firm ในช่วงปี พ.ศ. 2521-2524 โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2530 โดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการตั้งสาขาในต่างประเทศเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการตลาด และการส่งออกสินค้าได้ตามมูลค่าขั้นต่ำที่กำหนดเป็นเงื่อนไขในการได้รับการส่งเสริม 

แต่บริษัท Trading Firm ที่ได้รับการส่งเสริมส่วนใหญ่ขาดทุน เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของ BOI ได้ เช่น ไม่มีบริษัทใดสามารถเปิดสำนักงานสาขาในต่างประเทศได้ ไม่สามารถทำเป้าส่งออกได้ตามกำหนด  การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มล่าช้า มีการเปลี่ยนแปลงระบบ Packing Credit (P/C) จากธนาคารแห่งประเทศไทยมายังธนาคารเพื่อการส่งเสริมการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ส่งผลให้วงเงินที่ได้รับตามเอกสารลดลงและต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงขึ้น  ปัจจุบันบริษัท Trading Firm ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนข้างต้น ส่วนใหญ่เลิกกิจการไปแล้ว มีเพียง 3 บริษัทที่ยังเปิดดำเนินการ คือ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด  บริษัท ค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด และ บริษัท สหยูเนียน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสินค้าเป็นของตนเองเป็นส่วนใหญ่ 

ปัญหาที่ทำให้ Trading Firm ไทยที่ไม่ได้ขายสินค้าของตนเองไม่สามารถอยู่รอดได้ในอดีต ก็เพราะบริษัทเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางที่ซื้อมา ขายไปเท่านั้น  ทำให้บทบาทหมดไปเมื่อผู้ผลิตสินค้าสามารถติดต่อโดยตรงกับผู้ซื้อสินค้าได้เอง  ต่างจาก Trading Firm ขนาดใหญ่ในต่างประเทศในปัจจุบัน เช่น Li & Fung จากฮ่องกง ซึ่งมิได้ทำหน้าที่เป็นเพียงพ่อค้าคนกลางให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ต้องการจะส่งออกสินค้าเท่านั้น  หากแต่เป็นผู้ที่สามารถให้ข้อมูลด้านการตลาดเช่นแนวโน้มเกี่ยวกับรสนิยมหรือพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าในแต่ละประเทศ รูปแบบลักษณะสินค้าที่เป็นที่ต้องการ วิธีการในการปรับปรุงสินค้าหรือการหีบห่อให้เป็นที่ต้องการของตลาด  ตลอดจนการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าที่รับมาจำหน่ายต่อให้แก่ผู้สั่งสินค้าในแต่ละประเทศด้วย 



อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทุกวันนี้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น Walmart มีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง บริษัท Trading Firm จำเป็นต้องเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่เป็นผู้ผลิตสินค้าด้วย  เพื่อที่จะสามารถกำกับควบคุมให้มีการผลิตสินค้าที่ลูกค้าต้องการ ในกรณีที่ไม่สามารถหาสินค้าหรือผู้ผลิตรายใดในตลาดที่พร้อมที่จะผลิตสินค้าดังกล่าวได้    

มาตรการส่งเสริม Trading Firm ในประเทศไทยได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษ ล่าสุด กรมสรรพากรได้ดำเนินมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC) บริษัทการค้าระหว่างประเทศในที่นี้ หมายถึงบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เพื่อประกอบกิจการจัดซื้อและขายสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน หรือให้บริการเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็นต้องเป็นสัญชาติไทย ไม่จำเป็นต้องส่งออกสินค้าที่ผลิตในประเทศ สามารถส่งออกสินค้าที่จัดหามาจากต่างประเทศเพื่อส่งออกก็ได้ และครอบคลุมการจัดซื้อชิ้นส่วนเพื่อการผลิตในประเทศ (ไม่รวมการจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงซึ่งจะเป็นธุรกิจค้าปลีก)  ซึ่งนับได้ว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่รัดตัวเท่าใดนักต่างจากในอดีต แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า บริษัทใดได้รับการส่งเสริมบ้างและบริษัทเหล่านั้นได้ช่วยส่งเสริมการส่งออกให้แก่ SME ไทยหรือไม่ หรือเป็นเพียงบริษัทขนาดใหญ่ที่ค้าขายสินค้าของตนเองเป็นหลักเท่านั้น  จึงควรที่จะมีการติดตามและประเมินผล การส่งเสริม ITC ของ BOI

ทั้งนี้ การศึกษาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติการค้า ยกระดับการส่งออกไทย พบว่า ในต่างประเทศ ได้แก่ อาร์เจนติน่า อินเดีย เสปน เดนมาร์ค ชิลี บราซิล อิตาลี จอร์แดน มอรอคโค เปรู ตูนิเซีย ตุรกี และ อุรุกวัย มีมาตรการในการส่งเสริมการส่งออกที่น่าสนใจ คือการส่งเสริมการรวมตัวกันของผู้ประกอบการในประเทศในการส่งออกสินค้าหรือที่เรียกว่า “Consortium” โดยการให้เงินสนับสนุนในการทำการศึกษาตลาด ในการทำกิจกรรมส่งเสริมสินค้าและในการสร้างแบรนด์ ตลอดจนการให้การสนับสนุนในเชิงเทคนิค เช่น การให้การฝึกอบรมและข้อมูลเกี่ยวกับการตลาด การโฆษณาและการสร้างแบรนด์ การให้คำปรึกษาด้านภาษี ด้านมาตรฐานสินค้า ฯลฯ 

การส่งเสริมการส่งออกแบบกลุ่มดังกล่าวนอกจากจะช่วยประหยัดทรัพยากรของภาครัฐในการให้การส่งเสริมแล้วยังช่วยประหยัดทรัพยากรของผู้ประกอบการอีกด้วยจากการแบ่งภาระค่าใช้จ่ายในการพัฒนาตลาดหรือในการส่งสินค้าระหว่างกัน  ประเทศไทยจึงอาจพิจารณาศึกษาถึงความเหมาะสมในการนำมาตรการส่งเสริมแบบกลุ่มมาใช้ และเพื่อขับเคลื่อนให้มาตรการที่ควรส่งเสริมนี้เกิดผลบวกต่อภาคส่งออกไทย ทางทีดีอาร์ไอจึงได้จัดทำเป็นหนึ่งในข้อเสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติการค้าในด้านพัฒนาตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการไทย ให้กับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เกิดผลต่อไป


ที่มา:เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ