ผู้ตรวจการฯจัดเวที"เหลียวหน้า แลหลัง จริยธรรมตามรธน.

(1กพ.60) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดงานสัมมนา"เหลียวหน้า แลหลัง จริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ" โดยพล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "งานจริยธรรมในมุมมองของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่เป็นหน้าที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมผู้ตรวจฯ ตั้งแต่ปี 2550- ปัจจุบัน มีด้วยกัน 3 เรื่อง

1.การทำประมวลจริยธรรม โดย 10 ปีที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้ทุกหน่วยงานจัดทำประมวลจริยธรรม ซึ่งเรามีประมวลจริยธรรมกว่า 8,000 ฉบับ แต่ยังไม่ครบ เพราะยังมีอีก 400 หน่วยงานหรือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ส่งประมวลจริยธรรม

2. การส่งเสริมจริยธรรมให้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ให้มีจิตสำนึกด้านจริยธรรม

3.การรายงานการกระทำที่ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม ตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ ตามข้อมูล 10 ปีที่ผ่านมานั้น นักการเมืองระดับชาติ ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ถูกร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 194 รายหรือประมาณ 2ใน 3 ของเรื่องร้องเรียน รองลงมาคือ เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ 112 ราย และกทม.เทศบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น  องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีแต่ไม่มากเท่าใด  โดยเรื่องเด่น ๆ ที่ร้องเรียนนักการเมืองคือกรณีส.ส.เสียบบัตรแทนกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  การออกร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งสองเรื่องผู้ถูกร้องเรียนถูกถอดถอนในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีการสอบจริยธรรมอดีตแกนนำนปช.และอดีตรัฐมนตรีที่ถูกสหรัฐขึ้นแบล็กลิสต์ การที่ส.ส.ดูภาพอนาจารขณะร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ขว้างเก้าอี้ในระหว่างประชุมสภาผู้แทนราษฎร  การที่นายกฯไม่ร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่ไปภารกิจว. 5 เป็นต้น 
      
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า  ทั้งนี้มาตรฐานจริยธรรมมีความหลากหลายบางครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชี้ผิดถูกได้ตายตัวเหมือนความผิดในทางอาญา  อย่างกรณีนายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขโมยรูปที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น หากติดตามข่าวจะเห็นว่าทั้งประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานก็ดี ซึ่งสุดท้ายนายสุภัฒก็สารภาพว่าท่านเมามาก แต่ซีกหนึ่งของสังคมไทยมองว่าต้องเอาถึงตาย ต้องไล่ออก ปลดออก ไม่มีบำเหน็จบำนาญ แต่ซีกหนึ่งก็มองว่าลูกผู้ชายหลังอายุ 25 ปีก็ต้องเคยมีประสบการณ์เมา แต่ขอบเขตจะไปก่อเรื่องหรือไม่ กรณีนายสุภัฒนั้นโชคไม่ดีที่เกิดเรื่อง

 

หากเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย ในคาราโอเกะแถวบ้านท่านก็คงไม่มีเรื่อง แต่บังเอิญเรื่องไปเกิดที่ญี่ปุ่นก็เลยเป็นเรื่อง ซึ่งอีกซีกหนึ่งบางคนก็คิดว่าถ้าเราไปลงโทษถึงตายก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายทรัพยากรบุคคล ดังนั้นเรื่องนี้จะผิดถูกตนไม่ขอพูด แต่ในมุมมองหนึ่งคิดว่าถ้าเราจะลงโทษด้วยการให้เขาไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ใช้ความรู้ประสบการณ์ไปทำงานเพื่อสังคมโดยไม่ได้ค่าตอบแทน หรืออย่างหลายปีก่อนมีคนขับรถชนคนตาย เฉี่ยวรถตู้แล้วตกโทลเวย์ ซึ่งก็ไม่มีใครอยากให้เกิด สังคมก็ไปประณาม และศาลก็ไม่ได้ตัดสินลงโทษรุนแรงเพราะยังเป็นเยาวชน ก็ให้ไปบำเพ็ญประโยชน์ ไปทำงานดูแลเช็ดตัวผู้ป่วย จนสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี ดังนั้นสังคมจะไม่ให้โอกาสเลยหรือ
    
       
พล.อ.วิทวัส กล่าวอีกว่า การดำเนินการด้านจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญใหม่  มีการเปลี่ยนแปลงคือไม่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจแผ่นดิน แต่กำหนดไว้ในมาตรา 219 ว่าการจัดทำมาตรฐานจริยธรรมให้ศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับองค์กรอิสระจัดทำมาตรฐานจริยธรรมให้แล้วเสร็จ แล้วขอความคิดเห็นตามสภา วุฒิสภา และครม.และบังคับใช้ร่วมกัน ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ  ขณะเดียวกันในเรื่องการตรวจสอบจริยธรรม  รัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นหน้าที่ของป.ป.ช. ไม่กำหนดให้มีองค์กรอื่นมากรองก่อนอย่างผู้บังคับบัญชาหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน  ตนคิดว่าความคาดหวังของสังคมอยากให้ป.ป.ช.เก่ง และทำให้สำเร็จในเรื่องทุจริตต่อหน้าที่ คอร์รัปชั่นต่างหาก  ในเรื่องการสอบจริยธรรมร้ายแรง ทัศนะตนเห็นว่า ถ้าป.ป.ช.พลาดปล่อยหลุดไปเรื่องพฤติกรรมจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง คนจะไม่ตำหนิเท่ากับพลาดปล่อยคนทุจริตคอร์รัปชั่นไปและอีกปัญหาหนึ่งคือถ้าเป็นเรื่องจริยธรรมไม่ร้ายแรงจะเป็นหน้าที่ของใคร หน่วยงานไหน เพราะเมื่อไม่มีหน่วยงานดูแลแล้วเกิดปัญหาเจ้านายเมตตาลูกน้องจะทำอย่างไร