อย่ามองข้ามความดันโลหิตต่ำ

หลังจากเรียนรู้เรื่องความดันโลหิตสูงกันมามาก เรามาทำความรู้จักกับความดันโลหิตต่ำกันดูบ้างว่าจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย
ความดันโลหิตต่ำ หรือ Hypotension โดยทั่วไปหมายถึงค่าความดันโลหิตที่ต่ำกว่า 90/50 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเรามักจะทราบกันตอนไปตรวจร่างกายประจำปี และคนส่วนมากมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือกังวลที่ตัวเองมีความดันโลหิตต่ำ เว้นเสียแต่ว่าจะมีอาการผิดปกติอื่นๆ เกิดขึ้น เพราะคนส่วนมากทราบว่าการมีความดันโลหิตต่ำดีกว่าการมีความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตต่ำส่วนมากจะมีอาการดีขึ้นเองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่ถ้าความดันโลหิตต่ำมากๆ ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย คือ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ช้าลง เลือดจึงอาจจะไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ และเกิดลิ่มเลือดได้ง่าย ทำให้หลอดเลือดอุดตัน หลอดเลือดฝอยส่วนปลายขาดเลือดไปเลี้ยง เป็นต้น ดังนั้นคนที่ความดันโลหิตต่ำมากจึงควรไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ

สาเหตุหลัก
สาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำมากๆ เกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย คือ อาจจะเนื่องมาจากอัตราการส่งเลือดออกจากหัวใจลดลงเพราะลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะที่เกิดมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอด กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอหลังจากเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแออันเนื่องมาจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
นอกจากนี้ยังอาจจะเกิดจากปริมาณเลือดภายในร่างกายลดลง เนื่องมาจากการขาดน้ำ หรือการสูญเสียเลือดจำนวนมาก หรือการขยายตัวของหลอดเลือดมากเกินไป เช่น เกิดจากภาวะช็อกจากโรคติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ การถูกแดดแรงๆ ระบบประสาทมีปัญหา หรือการใช้ยาบางอย่าง ขณะที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ก็อาจจะมีความดันโลหิตต่ำได้เช่นกัน

สาเหตุจากการใช้ยา
ความดันโลหิตต่ำอาจจะเกิดจากการใช้ยาบางอย่าง เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาโรคหัวใจกลุ่มขับปัสสาวะ และยาขยายหลอดเลือด เช่น กลุ่มยาที่ใช้รักษาเบื้องต้นในโรคความดันโลหิตสูงและหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง (ACE inhibitors) และยาต้านแคลเซียมและไนเตรต

ทางเลือกในการรักษา

ความดันโลหิตต่ำมีทั้งชนิดที่ต้องการการรักษาและไม่ต้องการการรักษา ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากการใช้ยาบางอย่าง แพทย์อาจจะแนะนำให้หยุดยาหรือลดปริมาณยาลง

การดูแลร่างกายหากความดันโลหิตต่ำ
1. พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะความเหน็ดเหนื่อย การนอนหลับไม่เพียงพอต่างก็ยิ่งทำให้ความดันโลหิตต่ำลง ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการตรากตรำทำงานเกินควร หลีกเลี่ยงการนอนดึก และเวลานอนหลับไม่ควรนอนหนุนหมอนที่ต่ำเกินไป
2. หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ หรือการเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็วเกินไป
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ระบบประสาทเกิดความสมดุล หลอดเลือดหัวใจแข็งแรง และช่วยรักษาความดันโลหิตต่ำให้ดีขึ้น
4. รับประทานอาหารที่มีคุณค่าให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพราะหากผู้ที่มีแนวโน้มเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจะทำให้ความดันโลหิตยิ่งต่ำลงไปอีก
5. ใช้ยาอย่างระมัดระวัง โดยหากต้องไปพบแพทย์เนื่องจากอาการเจ็บป่วยใดๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าว่าตนมีอาการความดันโลหิตต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลงไปอีก

ที่มา.mydr