นายกฯชวนสานต่อพระบรมราชปณิธานร.9-ซึ้งใจคนไทยช่วยชาวใต้



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ (20 ม.ค.) รวมเป็นระยะเวลาครบ 100 วัน แห่งการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย และปวงชนชาวไทย จากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพสกนิกรทั้งชาวไทย และต่างชาติ ต่างเดินทางมาแสดงความจงรักภักดี และพร้อมใจกันถวายสักการะพระบรมศพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านคน ซึ่งแม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่พระเกียรติยศ และ “ศาสตร์พระราชา” ที่ได้พระราชทานไว้ ตลอดระยะเวลา 70 ปี จะยังคงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ร่วมกันทำความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และสานต่อพระบรมราชปณิธาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า 2 ปีกว่าที่แม่น้ำ 5 สายทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมโยง นำส่ิงที่ทำไว้มาจัดกลุ่ม ร้อยเรียงใหม่ต่อจิ๊กซอว์เป็นภาพอนาคตประเทศไทยที่เราอยากเห็น แบ่งเป็นระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว ในรูปแบบของการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะจัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับถาวร เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านประเทศ และส่งต่อแผนงานโครงการไปยังรัฐบาลหน้าอย่างไร้รอยต่อ จึงมีคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) อย่างเรื่องการปรองดอง ยกตัวอย่างในยามที่พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ก็มักรวมกลุ่ม ตั้งเวทีปิดถนน เรียกร้อง ต่อรองให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา เอาประชาชนเป็นตัวประกัน เอาความเดือดร้อนจากการจราจรเป็นเงื่อนไข เร่งรัดให้ต้องมีการดำเนินการอย่างใด อย่างหนึ่ง

ส่วนการแก้ปัญหาความยากจน เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ หลายฝ่ายรวมทั้งประชาชนอาจจะยังไม่เข้าใจในระบบเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ในยุคใหม่ที่ดีเพียงพอ ยังคงเอาหลักการใหญ่ พัฒนาองค์รวมมาตีกับเศรษฐกิจฐานรากผู้มีรายได้น้อยกับ คนรวย กับ ทุนนิยมเหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นงานด้านเศรษฐกิจของโลกเสรีที่เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นอย่างนี้ทุกประเทศ ที่สำคัญต้องเชื่อมโยงเกื้อกูลกัน 

ทุกปัญหาต้องร่วมมือกัน ดูว่าอะไรเป็นสาเหตุ รัฐ ประชาชน เอกชน เป็นอย่างไร เข้มแข็งเพียงพอแล้วหรือยัง อย่าเอา 3 อย่างมาขัดแย้งกัน โดยสื่อ นักวิชาการบางคน บางกลุ่ม ที่มีเจตนาแอบแฝง เลือกข้างหรืออาจจะมองแต่เพียงประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนโดยไม่สนใจว่าประเทศจะเป็นอย่างไร มีการพูดโดยไม่รับผิดชอบ ต้องปรับพฤติกรรมตัวเองบ้าง และรัฐบาลเปิดโอกาสให้ตลอดเวลา รังฟังคำวิจารณ์ที่มีประโยชน์ ไม่ใช่สร้างความขัดแย้ง 

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม “ประชารัฐร่วมใจ ช่วยอุทกภัยภาคใต้” เพื่อเป็นการระดมความช่วยเหลือจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศในการช่วยเหลือฟื้นฟู และเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมและบริหารโดย “กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี”เพื่อให้การดำเนินการมีคล่องตัวและโปร่งใสปัจจุบันมียอดเงินบริจาค รวมทั้งสิ้นเกือบ 500 ล้านบาท และประทับใจความร่วมมือแบบประชารัฐในความร่วมมือทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้าง “รอยยิ้ม บนคราบน้ำตา”ซึ่งขอขอบคุณ และปัจจุบัน รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกมติ โดยที่หน่วยงานของทุกกระทรวงในพื้นที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเป็นอย่างดี

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ