ยาเสพติด : ผิดกฎหมาย

ในระยะไม่กี่ปีมานี้ เริ่มมีหลายประเทศมองเห็นว่าปัญหายาเสพติดของโลกไม่ได้ลดลง ตรงกันข้ามกลับรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังไปเชื่อมต่อกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาเอดส์ เป็นต้น 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหายาเสพติด อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือป.ป.ส. ที่ดูงานด้านนี้โดยเฉพาะ พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการเปลี่ยนมุมมองต่อนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดใหม่

โดยมติคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เห็นชอบให้มีการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษาที่มีคุณภาพ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข 

โดยแนวทางใหม่นี้เน้นการปรับกฎหมายให้มีความเหมาะสม คัดแยกตามพฤติการณ์ โดยแบ่งเป็นผู้ค้า ผู้เสพ แยกออกกันอย่างชัดเจน 

โดยแบ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (ผู้เสพ แรงงาน และนักค้ารายใหญ่) ผู้ผลิต นายทุน และผู้ค้ารายใหญ่ที่ต้องใช้มาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาด และริบทรัพย์สิน ผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ให้โอกาสในการเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูและช่วยเหลือ

พร้อมทั้งปรับให้องค์กรที่รับผิดชอบ มีระบบการจัดการและรองรับกับปัญหาที่เหมาะสมและมีความพร้อม โดยเรื่องการบำบัดรักษาให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะยาเสพติดเป็นเรื่องของสุขภาพที่จะต้องทำอย่างจริงจัง 

การสร้างการรับรู้ในสังคมว่า “ผู้เสพ คือผู้ป่วย” ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ การปรับนโยบายยาเสพติดไม่ได้เป็นการรับรองการใช้ หรือให้ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เป็นการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เหมาะสมกับประเภทและความรุนแรงที่ควรจะเป็น

พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน มีเป้าหมายเพื่อปรับนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามทิศทางยาเสพติดโลก (UNGASS 2016) 

ปรับกฎหมาย เพื่อความสมดุลและยุติธรรม มีบทลงโทษที่เหมาะสมและได้สัดส่วน เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือเชิงเศรษฐกิจจากพืชเสพติดได้รับประโยชน์มากขึ้นภายใต้การควบคุมที่เหมาะสม 

ที่ผ่านมาได้มีการศึกษา วิเคราะห์ตามลำดับความยากง่ายของการใช้ และลักษณะของพืช หรือสารเสพติด แต่ละประเภท 

“เฮมพ์ หรือกัญชง , พืชกระท่อม , กัญชา และ เมทแอมเฟตามีน โดยขณะนี้ เฮมพ์ หรือกัญชง และพืชกระท่อมอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมก่อนจะได้ข้อสรุปร่วมกัน ส่วนกัญชาและเมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้าอยู่ระหว่างการรวบรวมและศึกษาข้อมูล”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยังกล่าวอีกว่า เป้าหมายในครั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชน รับรู้ เข้าใจในเจตนารมณ์ และมีทัศนคติในเชิงบวกต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายยาเสพติด รวมถึงการเชื่อมั่นในระบบของการบำบัดรักษา และสังคมให้โอกาสผู้ผ่านการบำบัดได้มีชีวิตปกติ  
  


สำหรับการดำเนินการช่วงต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบบำบัดรักษา ผู้เสพ/ผู้ติด คือ ผู้ป่วย และ   เชิญชวนให้เข้ารับการบำบัด การเปลี่ยนชีวิตใหม่ภายหลังการบำบัด และการได้รับโอกาสมีอาชีพหลังจากผ่านการบำบัด 

โดยคณะอนุกรรมการฯ IO กำหนดที่จะดำเนินการจัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (โพลล์) ตลอดจนการติดตามความคิดเห็นของประชาชน social  (Monitoring) 

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งประเทศ คือ นโยบายยาเสพติดที่จะออกมาใหม่นี้ ไม่ได้ทำให้ยาเสพติดเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่เป็นการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเหมาะสม

เขียน : พายุหมุน

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ