รฟท. ปรับแผนใช้ IT โกยรายได้

ท่ามกลางความเศร้าโศกของคนไทยทั้งประเทศ แต่ใช่ว่าหลายสิ่งจะชะงักงันลงไป ทุกอย่างคงต้องเดินหน้า และดำเนินต่อไปตามครรลอง ที่น่าชมเชยก็เห็นจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ อย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. พยายามก้าวไปข้างหน้า

 

ล่าสุดมีการเปิดเผยจาก ผู้บริหาร กลุ่มบริหาร ธุรกิจทรัพย์สิน การรถไฟฯ ว่า เดือนพฤศจิกายน 59 นี้ จะเปลี่ยนระบบการบริหารสัญญาทรัพย์สิน ที่ปัจจุบันต้องเปิดแฟ้มเอกสาร ทำให้ล่าช้าและจะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอที เข้ามาช่วยการบริหาร ให้รวดเร็วขึ้น

 

ซึ่งจะรู้ว่าทรัพย์สินแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศมีจำนวนเท่าไหร่ อยู่ตรงไหนบ้าง และกำลังจะหมดอายุสัญญากี่สัญญาต้องต่อสัญญาไหนบ้าง เพื่อวางแผนบริหารจัดการและเจรจาผู้เช่าว่าจะเช่าพื้นที่ต่อหรือไม่ ..??

 

ช่วงที่ผ่านมาการรถไฟฯ เสียโอกาสมามาก เพราะพบสัญญาที่หมดอายุและทำให้ต่อสัญญาเช่าไม่ทันหลายพันสัญญา และส่วนใหญ่เป็นสัญญาเช่าพื้นที่ขนาดเล็กแม้จะทำรายได้ไม่มากนักถ้าเทียบกับสัญญาใหญ่ แต่ต้องต่อสัญญาให้หมด เพื่อให้รายได้จากการบริหารทรัพย์สินเป็นไปตามเป้าหมาย

 

ในปีนี้อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท และปี 60 อยู่ที่ 3,200 ล้านบาท และมองไปอีก 5 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่ารายได้จะอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท 

 

รายได้หลักจากทรัพย์สินก็มา จากการพัฒนาที่ดินโครงการรถไฟทางคู่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ นครปฐม-หัวหิน เป็นต้น เนื่องจากจะพัฒนาที่ดินและบริหารทรัพย์สินบริเวณรอบ ๆ สถานีรถไฟเชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้ การรถไฟฯ ได้มากขึ้น

 

แต่ก็ต้องมีการลงทุนระบบไอที ใหม่ทั้งหมดเลยก็ว่าได้ โดยในระยะแรกใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท ระยะที่ 2 อีก 30 ล้านบาท พัฒนาระบบให้สามารถออกใบแจ้งหนี้ค่าเช่าพื้นที่ได้ หรือสามารถชำระค่าเช่าผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส และมีระบบเชื่อมโยงติดต่อทางตรงกับการรถไฟฯ ได้ทันที

โดยไม่ต้องไปที่รฟท.

 

สำหรับหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ที่มีสัญญาเช่ากับ การรถไฟฯ  อยู่แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาระบบอีก 2 ปี ส่วนระยะที่ 3 อีก 4-5 ปี นั้น จะพัฒนาไปถึงระดับที่เอกชนยื่นขอเช่าโดยตรงผ่านระบบไอทีได้ จะมีแผนที่ดิจิตอลบอกสถานที่ ที่เอกชนต้องการเช่า และ การรถไฟฯ จะดูจุดว่าเป็นบริเวณที่ผู้ประกอบการจะเช่าได้ทันทีและบอกได้ด้วยว่าพื้นที่นั้น ๆ เป็นของ รฟท. หรือไม่

 

ไม่ใช่แค่การนำระบบไอทีมาช่วย การรถไฟฯ ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบสัญญาเช่าของหน่วยงานและบริษัทเอกชน ร้านค้าต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย โดยอยู่ระหว่างการประเมินสัญญาเช่าที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไปใหม่

 

ส่วนโครงการที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท หลังจากประเมินแล้วต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนด้วย 

 

ข้อมูลที่ดินของการรถไฟ ล่าสุด พบว่าในปี 2553 การรถไฟฯ  มีที่ดิน 234,976 ไร่ การประเมินราคา ณ ปี 2553 มีมูลค่า 377,355 ล้านบาท แต่การรถไฟ กลับมีได้จากการ บริหารที่ดิน ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี 

 

ดูจากแผนแล้ว ถ้าทำได้ตามแผนจริง การปรับการทำงานครั้งนี้ คงจะเป็นการบริหารการรถไฟฯที่น่าจะได้เงินจากสินทรัพย์ที่มีมหาศาลมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

และที่สำคัญก็คงช่วยลดภาระหนี้สินขององค์กรที่สะสมสูงถึง 1 แสนล้านบาทได้บ้าง..ก็เป็นได้ !!




เขียน : ทรงสิริ

ภาพ:การรถไฟแห่งประเทศไทย 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ