เบญจภาคี : พระสมเด็จวัดเกศไชโย อ่างทอง

0...พระสมเด็จวัดเกศไชโย เป็น 1ใน 3 ตระกูลพระสมเด็จที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) วงการพระเครื่องในปัจจุบันให้ความนิยมและจัดรวมพระสมเด็จวัดเกศไชโยให้อยู่ในชุด เบญจภาคี


เช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆัง และพระสมเด็จบางขุนพรหม นับเป็นพระที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมสะสมอย่างกว้างขวาง วันนี้แฟนทางบ้านได้ฝากมาให้ศึกษา 2 องค์ เป็นองค์ที่เนื้อจัด สวย ดูง่าย เป็นพิมพ์ 6 ชั้น อกตลอด ครับ สามารถนำไปเป็นแนวทางศึกษา สะสมได้ครับ ขอบคุณ คุณชรัฐ ตามไท และคุณพรชัย วินวินพระเครื่อง


0...วัดไชโยวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร นับเป็นที่วัดเก่าแก่ แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าใครสร้าง ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดไชโย” หรือ “วัดเกศไชโย” เป็นเวลานานมาแล้ว ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สุดเขตแดนตอนเหนือของ จ.อ่างทอง


วัดเกศไชโยเริ่มปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปก็เมื่อครั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ได้มาสร้างพระพุทธรูปใหญ่โตขึ้นและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้รับพระราชทานชื่อว่าพระมหาพุทธพิมพ์ เรียกกันว่าหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ ประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง ขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูงสุดถึงยอดพระรัศมี 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว


0...ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด) เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นใหม่ในปีพ.ศ.2430 ตอนที่สร้างพระวิหารครอบพระมหาพุทธพิมพ์ได้มีการกระทุ้งรากฝังเข็ม พระมหาพุทธพิมพ์เป็นพระพุทธรูปใหญ่ทนการกระเทือนไม่ได้จึงพังทลายลงมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่เป็นของหลวงทดแทนพระพุทธรูปที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สร้างเอาไว้


และจากที่พระมหาพุทธพิมพ์ พังทลายลงมานี้เอง จึงได้พบพระพิมพ์เนื้อผงขาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นจำนวนมาก เรียกกันว่า  พระสมเด็จวัดเกศไชโย  เป็นที่ยอมรับและเชื่อกันว่า พระสมเด็จวัดเกศไชโย  เป็นพระเครื่องที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างและบรรจุเอาไว้เพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นอนุสรณ์แด่โยมมารดาของท่านชื่อ เกศ


0...พระสมเด็จวัดเกศไชโยมี 3 พิมพ์ เป็นพระพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยม เหมือนพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม มีลักษณะของ อกร่อง หูบายศรี มีกรอบกระจกจากพื้นผนังกรอบอีกชั้นหนึ่งทุกพิมพ์  การตัดขอบข้างทั้ง 4 ด้านจะมนแทบทุกองค์ จะต่างกันแค่ที่ฐานซึ่งมี 7 ชั้น และ 6 ชั้นเท่านั้นพิมพ์ที่เป็นที่นิยมสะสมมี 3 พิมพ์คือ พิมพ์ 7 ชั้น นิยม พิมพ์ 6 ชั้น อกตัน และพิมพ์ 6 ชั้น อกตลอด


เนื้อพระสมเด็จวัดเกศไชโย อาจแบ่งได้  3 ลักษณะคือ เป็นพระเนื้อปูนขาว องค์พระมักมีสีขาวมากกว่าสีอื่นๆ ด้านหลังของพื้นฐานบางองค์เป็นรอยกาบหมากเห็นได้ชัด เนื้อนุ่ม เนื้อนุ่มปานกลาง และเนื้อแกร่ง พระเนื้อนุ่มมีมวลสารและน้ำมันตังอิ๊วผสมอยู่มาก เรียกว่า เนื้อจัด


ส่วนใหญ่มีสีขาวขุ่นอมน้ำตาล  ส่วนพระเนื้อนุ่มปานกลาง มีส่วนผสมที่ได้สัดส่วนลงตัว ส่วนใหญ่สีขาวอมเหลือง และพระเนื้อแกร่ง เป็นพระเนื้อแก่ปูน ผิวแห้ง แกร่ง คล้ายเนื้อหินอ่อน


0...ตามบันทึกของพระยาทิพโกษา ( สอน  โลหะนันท์ ) ซึ่งได้บันทึกจากการบอกเล่าของพระธรรมถาวร จันทโชติ สามเณรที่ช่วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตำผงเพื่อสร้างพระสมเด็จประมาณ ปี พ.ศ.2409 ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) เป็นผู้สร้างสมเด็จวัดเกศไชโยขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับโยมมารดาที่ชื่อ เกศ


ท่านสร้างพระพิมพ์สมเด็จ  7 ชั้น แล้วนำมาแจกรวมทั้งบรรจุกรุไว้ใน กรุวัดไชโยวิหาร ในคราวที่ท่าน ได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วัดนี้ และประมาณการจากบันทึก อายุการสร้างสมเด็จพิมพ์วัดเกศไชโย นั้นใกล้เคียงกับสมเด็จวัดระฆังฯ


ด้านส่วนผสมในการสร้างว่ากันว่าคล้ายกับสมเด็จวัดระฆังฯ และสมเด็จบางขุนพรหม มวลสารหลักได้แก่ ปูนเปลือกหอย ผงวิเศษ ทั้ง 5 คือผงอิทธิเจ ผงพุทธคุณ ผงปถมัง ผงมหาราช  ผงตรีนิสิงเห และมีน้ำมันตังอิ๊ว กล้วยน้ำว้า ดอกไม้แห้งข้าวสุก เป็นตัวประสาน


จากกันด้วยข้อคิดสะกิดใจ 'เมื่อต้นทุนทางชีวิตของเราไม่เท่ากับคนอื่น สิ่งที่ต้องทำ คือ ความอดทน การเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา และการพัฒนาตนเอง'



เขียน : นายกองตรีอ้วน [email protected]