มีชัยขอศึกษาคำวินิจฉัยศาลรธน. สว.เสนอชื่อนายกฯ

(28กย.59) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ กับคำถามพ่วง ที่ให้รัฐสภาเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ภายใน5 ปี ไม่สอดคล้องกับผลออกเสียงประชามติ ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯได้ด้วย เราก็ต้องปรับแก้ตามนั้น  แต่ศาลไม่ได้บอกแนวทางในการปรับแก้เพียงแต่บอกให้แก้โดยมีผล 2 ข้อ คือ 1.ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากผู้อยู่บัญชีรายชื่อ คือ สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของจำนวน2 สภา และ 2.กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ ในระหว่าง 5ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราเขียนไป แต่ศาลบอกว่า เราเขียนไม่ชัด จึงต้องนำกลับมาเขียนให้ชัด ซึ่งข้อแรกยังไม่ชัดเจนที่บอกว่าผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อ คือ สมาชิกรัฐสภา เท่ากับ ส.ว.มีสิทธิเสนอยกเว้นได้ แต่มีสิทธิเสนอชื่อด้วยหรือไม่ยังไม่เจอ
           

เมื่อถามว่า สรุปว่า ยังไม่ชัดว่า ส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้ใช่หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ถ้าดูตาม 2 ข้อข้างต้นเหมือนจะไม่มี มีแต่เสนอยกเว้นที่จะเอาคนนอก ตอนแรกที่อ่านเข้าใจผิด ความจริงเขาเขียนเพียงเท่านี้ อย่างไรก็ตาม กรธ.คงต้องนั่งอ่านและตีความกันอีก ซึ่งภายใน 15 วันต้องชัดเจน

             

เมื่อถามย้ำว่า ส.ว.มีอำนาจแค่เสนอยกเว้นบัญชีรายชื่อนายกฯหรือ มีอำนาจเสนอชื่อนายกฯได้ นายมีชัย กล่าวว่า ก็มีแค่ 2 ข้อที่กล่าวมา ยังไม่รู้ว่ายังไง ต้องขอกลับไปอ่านก่อน หากสรุปตามที่เขียนมา 2 ข้อ ก็เพียงแต่มีสิทธิแค่เข้าชื่อยกเว้นการใช้บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง เพื่อเปิดประชุมรัฐสภา จากเดิมที่ต้องใช้เสียง ส.ส. 250 เสียง โดยศาลรัฐธรรมนูญให้แก้ไขโดยใช้เสียงของรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง จาก 750 เสียง ได้ ทั้งนี้ ภายหลัง 15 วัน เมื่อกรธ.ปรับแก้แล้วเสร็จตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีก เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว2557 ไม่ได้กำหนดไว้เอา ซึ่งสามารถส่งนายกฯได้ทันที