About Ray ชีวิตที่ไม่ง่าย...ของผู้ชายข้ามเพศ

ปลายกันยายนที่ผ่านมา บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล และกลุ่ม Love Pattaya ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศ ได้จัดกิจกรรมชมภาพยนตร์รอบพิเศษเรื่อง ‘About Ray’ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนตร์จากโครงการ The Little Big Films Project 11 ที่รวมรวมหนังดี ฟอร์มเล็กที่ได้รับเสียงตอบรับจากเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ ทั่วโลก

About Ray กำกับโดย แกบี เดลลาล (Gaby Dellal) มือเขียนบท ผู้กำกับหญิง ผู้กำกับ ชาวอังกฤษ  ที่เคยฝากผลงานไว้กับ On a Clear Day (2005) Angels Crest (2011) Leaving (2012) นำแสดงโดย นาโอมิ วัตต์ และนักแสดงดาวรุ่งอย่าง  แอล แฟนนิ่ง ที่มารับบท “เรย์” เด็กสาวโดยกำเนิด ทว่ามีเพศสภาวะและหัวใจของเพศชาย


มันคือเรื่องราวของ “ราโมน่า” (แอลล์ แฟนนิ่ง) ที่เกิดมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยผู้หญิง โดยมีแม็กกี้ (นาโอมิ วัตต์ส)  คุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยว และ ดอลลี่ (ซูซาน ซาแรนดอน) ผู้เป็นยายซึ่งคบกับผู้หญิงอีกคนอาศัยอยู่ด้วยกัน


“ราโมน่า” มีความต้องการที่จะเป็นผู้ชายเต็มตัว เขาแทนตัวเองว่า “เรย์” และใช้ชีวิตไม่ต่างอะไรจากเด็กผู้ชายรุ่นราวคราวเดียวกัน และไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีเขายืนยันแน่นอนที่จะเข้ารับกระบวนการทางการแพทย์เพื่อเปลี่ยนจากเพศหญิงมาสู่เพศชายอย่างเต็มตัว ทว่าเส้นทางความตั้งใจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยิ่งนานวันเข้า “เรย์”ต้องพบเจอกับสายตาที่มองเขาอย่างแปลกประหลาด กระทั่งความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อต้องพบกับพ่อแท้ๆ ที่ทิ้งเขาไปตั้งแต่ยังเด็ก


ใช่-ประเด็นของหนังคือการต่อสู้กับความรู้สึกของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นแม่ ยาย เพื่อน หรือคนรอบข้างที่มองว่าความต้องการของเขาเป็นเรื่องที่แปลก และลึกๆแล้วเป็นเรื่องที่รับไม่ได้


นี่อาจเป็นภาพแสดงของสังคมตามความเป็นจริง ที่แม้จะบอกว่ายอมรับความหลากหลายทางเพศ เข้าใจถึงสิทธิของความเท่าเทียม แต่ในความเป็นจริงเรากลับรู้อยู่แก่ใจว่าเราคิดอย่างไรกับคนข้ามเพศเหล่านี้ และมันก็ยากเหมือนกันที่จะตอบตัวเองว่า หากต้องอยู่ในสถานการณ์เดียวกับแม็กกี้แล้ว เราจะจรดปากกาเซ็นยินยอมให้เรย์เข้ารับกระบวนการทางการแพทย์อย่างที่หวังได้หรือไม่

 

มองเผินๆ นี่คือหนังวัยรุ่นที่ว่าด้วยอุปสรรคของชีวิตทั่วๆไป โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่คนกำกับภาพพยายามสื่อให้เห็นถึงชีวิตที่ดูสนุกสนาน ความมีชีวิตชีวาจากภาพของทิวทัศน์ที่เคลื่อนไหวในสไตล์กล้อง GoPro แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหน้าที่ดูธรรมดาเหล่านั้น ได้ซ่อนเบื้องหลังของความเจ็บปวดของเรย์ ที่แม้ว่าจะกล้าหาญไม่ต่างจากผู้ชายทั่วๆไป แต่ก็ยังถูกรังแก จนต้องเตรียมพร้อมตัวเองอยู่เสมอเพราะไม่ว่าจะถูกกระทำความรุนแรงอีกทีเมื่อใด

 

“คนข้ามเพศ” ชีวิตที่ไม่ง่าย

ภาพของภาพยนตร์ที่ฉายตรงหน้า จึงทำให้นึกย้อนไปถึงประเด็นเสวนาก่อนหน้าไม่กี่นาที ในประเด็นซึ่งว่าด้วยผู้ชายข้ามเพศ ที่ต่างก็ประสบปัญหาต่างกรรม ต่างวาระ


คาณัสนันท์ ดอกพุฒ ชายข้ามเพศ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกนิยามว่าเป็น “ทอม” บอกว่า ชีวิตของเขานั้นไม่ได้ง่าย เพราะนอกจากต้องเจอกับความไม่เข้าใจของคนรอบข้างแล้ว ยังต้องดิ้นรนศึกษาการเป็นผู้ชายข้ามเพศด้วยตัวเองเพราะในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลเปิดเผยมากนัก และนั่นก็ส่งผลถึงภาวะทางอารมณ์ที่แปรปรวน กระทั่งการแข็งตัวของเลือดจากการที่รับฮอร์โมนที่มากเกินไป



“ผมคิดว่าเมื่อก่อนมันแย่มากเลยนะ ไหนจะเจอกับสายตาคนรอบข้าง เวลาไปทานอาหารกับที่บ้านต้องทนที่จะไม่เข้าห้องน้ำในร้านอาหารเพราะจะเข้าห้องน้ำหญิงก็ไม่ได้ จะเข้าห้องน้ำชายก็กลัวเจอพ่อของตัวเอง ในความรู้สึกของเราที่เป็นคนข้ามเพศในวันนั้นมันมีความกดดันทั้งเรื่องร่างกายและจิตใจ”

 

ข้อจำกัดสาธารณสุขคนข้ามเพศ

 

ขณะที่กฤติมา สมิทธิ์พล หัวหน้าคลินิกแทนเจอรีน ซึ่งเป็นคลินิกคนข้ามเพศแห่งแรกในประเทศไทย บอกตอนหนึ่งว่า นอกจากสังคมยังไม่เข้าใจคนข้ามเพศแล้ว  อีกด้านหนึ่งนโยบายทางด้านสาธารณสุขในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความละเอียดอ่อนทางเพศสภาพ และการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ จึงส่งผลให้คนข้ามเพศเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพ เช่น การใช้ฮอร์โมนที่ไม่ถูกวิธี ภาวะเปราะบางต่อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการถูกตีตราจากสังคมและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งบางคนยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนข้ามเพศ นำไปสู่ความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของคนข้ามเพศหลายต่อหลายราย

               

 “สังคมไทยให้ความสำคัญกับสถานบริการทางการแพทย์ที่ต้อนรับคนข้ามเพศอย่างเป็นมิตร ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นต้นแบบที่จะนำภูมิภาคไปสู่การพัฒนาการเข้าถึงและคุณภาพของระบบสาธารณสุขในกลุ่มประชากรคนข้ามเพศ ซึ่งความพยายามเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การยับยั้งเอชไอวี และยังมีส่วนช่วยสนับสนุนสุขภาพและสิทธิของคนข้ามเพศ”

              

นอกจากนี้ในเวทีเสวนายังมีกรณีของ  ณัฐศรัณย์  ศรีเมือง ชายข้ามเพศที่เจอกับสิทธิเรื่องการจดทะเบียนสมรส เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ และกรณี สุมน อุ่นสาธิต ที่พบกับปัญหาสุขภาพจิต และสุขภาพกาย อันเนื่องมาจากการถูกบีบคั้นจากสังคมรอบข้าง โดยที่ไม่รู้จะไปปรึกษาหน่วยงานไหน ทั้งนี้เป็นการแสดงถึงอีกหลายอุปสรรคที่ชายข้ามเพศยังต้องประสบอยู่


สำหรับประเทศไทยเอง นอกจากความเข้าใจในเรื่องครอบครัวและเรื่องการเข้าถึงความรู้ด้านการแพทย์ที่คนข้ามเพศยังประสบปัญหาแล้ว ความรุนแรงที่เกิดกับคนข้ามเพศ โดยเฉพาะกลุ่มหญิงรักหญิงเอง โดยมีการเก็บข้อมูลตลอด 10ปีที่ผ่านมาว่า มีคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มหญิงรักหญิง โดยมีทอมเป็นเหยื่อ ถึง 11 คดี ทั้งยังรวมไปถึงการละเมิดทางเพศในหลายระดับที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งอาชญากรรมเหล่านี้ล้วนมาจากอคติและความเกลียดชัง( Hate crime) ซึ่งเป้นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอดในสังคมไทย

 

ถึงบอกว่าชีวิตของคนข้ามเพศ มันไม่ง่ายเลยจริงๆ

 


เขียน:นักข่าวสีรุ้ง

ภาพ:อินเทอร์เน็ต