ดราม่าปลูกป่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น

ตอนนี้ สังคมกำลังให้ความสนใจ ห่วงใยปัญหาป่าต้นน้ำถูกทำลายและประเด็นการปลูกป่ากำลังเป็นที่ถกเถียงกันมากว่าควรปลูก หรือไม่ควรปลูก

บ้างก็ว่า
บางคนปลูกเอาหน้า ปลูกดราม่า ปลูกแล้วตาย ปลูกผิดวิธียิ่งเสียหาย

บ้างก็ว่า
ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ ป้องกันการทำลาย ป้องกันไฟ อีกไม่นาน ป่าก็ฟื้นตัวเองจาก เมล็ดที่สะสม (seed bank) ในดิน และสัตว์ก็ช่วยกระจายเมล็ดมาจากแนวป่าข้างเคียงมาฟื้นฟูป่า เป็นกระบวนการตามธรรมชาติ

บ้างก็ว่า


ปลูกเลย อย่ามามัวเถียงกันผมเองอยากให้ข้อมูลทางนิเวศบางอย่างไว้ประกอบการพิจารณาการทำลายป่าของเรา ที่ผ่านมาไม่ได้เพียงทำลายพื้นที่ป่าไม้แต่เราได้ทำลายศักยภาพของป่าในการฟื้นฟูตนเองด้วย

ทั้งนี้ เราได้ล่าสัตว์น้อยใหญ่ จนหมดสิ้นจากป่าที่เหลืออยู่ด้วยศัพท์เทคนิคเรียก defuanationสัตว์เหล่านี้ มิได้เป็น เพียง สิ่งสวยงามประดับป่า แต่มันคือชีพจรของป่า วิวัฒนาการมาร่วมกัน พึ่งพากัน มาหลายล้านปี

พันธุ์ไม้ในป่ามีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีวิธีกระจายเมล็ดพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไปต้นยาง พยอม เหียง ประดู่ป่า มีผลติดปีก อาศัยลมพัดพาไปไกลๆได้

ในขณะที่มีพันธุ์ไม้ป่าอีกหลายชนิดใช้วิธี ออกผลสีสด มีเนื้อนุ่ม รสอร่อย เชื้อเชิญให้สัตว์มากิน กลืนเมล็ดเข้าไป และไปถ่ายเมล็ดในที่ห่างไกลออกไป

การสูญพันธุ์ของสัตว์ที่กินผลไม้เป็นอาหารหลักไปจากพื้นที่ มีผลอย่างมาก ต่อความสามารถในการกระจายพันธุ์ และ ศักยภาพในฟื้นฟูตนเองของป่าดิบเขตร้อน

แม้ว่าในบางพื้นที่ ยังเหลือนกเล็กๆและค้างคาวกินผลไม้ ทำหน้าที่ดังกล่าว
แต่พันธุ์ไม้หลายชนิด มีวิวัฒนาการมาจำเพาะให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่าง ชะนี หมี หรือ นกขนาดใหญ่อย่างนกเงือกเป็นตัวกระจายพันธุ์ พันธุ์ไม้เหล่านี้ เช่น ตาเสือ มะเกิ้ม ยางโอน กำลังเลือดม้า ฯลฯ มีเมล็ดขนาดใหญ่เกินกว่า ปากนก(gape) ตัวเล็กๆจะกลืนลงไปได้ มันจึงต้องพึ่งพาสัตว์ใหญ่เท่านั้น

หากสัตว์ใหญ่พวกนี้สูญพันธุ์ไป เมล็ดพันธุ์ไม้เหล่านี้ ก็จะร่วงหล่นที่โคนต้นอย่างหนาแน่น โดนสัตว์ฟันแทะกัดกินเมล็ด และเน่าเสียหายเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ เมล็ดพันธุ์ไม้เหล่านี้ได้รับการออกแบบมาให้โดนน้ำย่อยในลำไส้นก กระตุ้นเสียก่อนจึงจะงอกได้ดี
ดังนั้นโอกาสที่เมล็ดที่หล่นโคนต้นจะงอกเป็นต้นใหมนั้น แทบไม่มีเลย

หากป่าถูกทำลายพร้อมกับสัตว์ป่า พันธุ์ไม้เหล่านี้ก็จะไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ มนุษย์เราต้องช่วยด้วยส่วนหนึ่งครับ มิเช่นนั้น ความหลากหลายพันธุ์ไม้ในป่าที่ฟื้นใหม่จะมีเพียง ไม้เบิกนำบางชนิดที่กระจายพันธุ์โดยลมและนก หรือ ค้างคาวขนาดเล็กเท่านั้น

หากสนใจอ่านรายละเอียด วิธีการฟื้นฟูป่าแบบมีประสิทธิภาพและมีความหลากหลายทางชีวภาพ ผมแนะนำ แนวทางของ FORRU ของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นผู้นำในฟื้นฟูป่าเขตร้อนของโลกเลยทีเดียวครับ

ดังนั้นหากถามผมว่าเราต้องปลูกป่าหรือไม่ผมขอตอบว่า ต้องปลูกแต่ต้องปลูกอย่างถูกวิธี อิงข้อมูลทางวิชาการและเวลาในการฟื้นฟู่ป่าที่ดีที่สุดคือ เมื่อ 50 ปี ที่แล้วส่วนเวลาที่ดีรองลงมาคือวันนี้

อย่างไรก็ตามที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์แน่นอนการฟื้นฟูป่าให้สำเร็จ ต้องคำนึงถึงปัจจัยองค์ความรู้ด้านอื่นๆอีกมากมายโดยเฉพาะด้านสังคมเศรษฐกิจ (ซึ่งผมไม่มีความรู้ใดๆเลย)หากขาดมิติด้านนี้ไป ที่พูดมาทั้งหมดก็สูญเปล่า ในบริบทที่เป็นจริงของประเทศไทย

งานนี้จึงต้องเป็นงานที่เกิดจากความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกทุกฝ่ายในสังคมและงานที่เร่งด่วนสุดๆยิ่งกว่าการฟื้นฟูป่าหัวโล้นคือการรักษาป่าไม้ที่มีอยู่ให้ได้ มิให้ถูกทำลายเพิ่ม แม้เพียงกระเบียดนิ้ว

และที่สำคัญต้องไม่ใช่การรักษาพื้นที่สีเขียว หรือวิวสวยๆแต่ต้องรักษาความหลากทางชีวภาพของสังคมป่าไว้ให้ได้ ป่าไม้ไทยจึงจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน

ที่มา : FB Rungsrit Kanjanavanit