ชุดทดสอบโรคไข้เลือดออกผลงานนักวิจัยหญิงไทย



ผลงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ โกสุม จันทร์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)  เรื่อง “ ชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่ก่อโรคไข้เลือดออกแบบแยกซีโรไทป์โดยใช้ดีเอ็นเอไบโอเซนเซอร์แบบแถบ ”ได้รับเลือกจาก วช. ให้เป็นหนึ่งในงานวิจัยมาแสดงภายในงานแถลงผลงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปี ครั้งนี้ เปิดเผยว่า “งานวิจัยนี้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ :รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ซึ่งเชิญชวนให้นักประดิษฐ์คิดค้นเสนอผลงานซึ่งเป็นผลผลิต ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการ วิธีการ มาตรการ หรือระบบ ตลอดจนวิทยาการต่างๆ ที่ดีเด่นพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคมศาสตร์ รวมผลงานที่ได้รับรางวัลดังกล่าวนี้ 47 ผลงานในสาขาวิชาการต่างๆ  รวม 9 สาขาวิชาการ ซึ่งผลงานวิจัยเรื่อง ชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่ก่อโรคไข้เลือดออก ของเราได้รับรางวัลระดับดีมาก โดยมีนักวิจัยในทีมท่านอื่นๆ อีกค่ะ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล ท่านอธิการบดี มศว / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย แก้วพินิจ / นายจัตุรงค์ ขำดี / นายสมศักดิ์ เหรียญทอง

ชุดทดสอบเชื้อโรคต่างๆ แบบเก่าก็เป็นวิธีการเพาะเลี้ยงหาเชื้อของโรคในห้องปฏิบัติ ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะรู้ผลว่าผู้ป่วยป่วยเป็นโรคอะไร มาสมัยนี้เราใช้เทคนิคที่คิดกันว่าไม่ต้องพึ่งพาอาศัยเครื่องมือการแพทย์มากมาย ยุ่งยาก ราคาแพง จนได้มาพบวิธีการใช้แถบสีที่ให้ผลความจำเพาะสูง รู้ผลเร็ว แยกซีโรไทป์ได้ด้วยใน 4 ระยะ ก็จะมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนน้อยมากในงานวิจัยชุดตรวจโรคไข้เลือดออกนี้

ซึ่งจะเป็นชุดทดสอบแบบแถบสีเหมือนการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยแถบสีที่ปรากฏผลบวกหรือลบ ให้ผลรวดเร็ว แม่นยำและเบ็ดเสร็จในขั้นตอนเดียว เชื้อไวรัสเด็งกี่ชนิดซีโรไทป์ 1,2,3,4 (หนึ่งแผ่นหนึ่งชนิด) ทราบผลไวโดยใช้เวลาเพียงชั่วโมงครึ่ง สามารถช่วยให้แพทย์ตัดสินใจให้การรักษาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องกับโรคมากขึ้น รวมทั้งนำไปใช้เป็นวิธีคัดกรองสิ่งส่งตรวจทางการแพทย์ในห้องปฏิบัติการ เหมาะสำหรับการควบคุมและการป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่เรากำลังหวาดกลัวกันในขณะนี้จากการที่ดารา คุณปอ ทฤษฎี ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกอย่างรุนแรง ก็อาจจะเกิดการรู้โรคช้าไปหรือเป็นไข้เลือดออกในระยะมากแล้ว ไวรัสนั้นได้ทำลายการทำงานของระบบและอวัยวะภายในต่างๆ จนรักษาได้ยากมากขึ้น อันที่จริงเรายังไม่ได้ขายชุดทดสอบนี้ มีเพียงชุดต้นแบบที่นำมาสาธิตให้ดูและกำลังอยู่ในการพัฒนาความเป็นมาตรฐาน คาดว่าปี 2559 จะเห็นเป็นรูปธรรม ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคต่างๆ ทั้งวัณโรค ท้องร่วง ตับอักเสบ รวมทั้งโรคไข้เลือดออกที่มีแนวโน้มเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังหรือโรคระบาดได้ในปี 2559 ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ทันท่วงที”

นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง คือ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว เป็นหนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า “ เรากำลังพัฒนาชุดทดสอบนี้ให้ดีขึ้น ใช้ง่าย แต่ตอนนี้เรากำลังให้ความสนใจกับเรื่องการทดสอบโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่มีการดื้อยาสุดๆ อย่างโรควัณโรค โรคติดเชื้อในกระแสเลือด หรือการใช้ยาไม่ถูกกับโรค ก็มีค่าใช้จ่ายสูงตามมา เพราะฉะนั้นงานวิจัยโรคไข้เลือดออกของทีมเรานี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราสามารถช่วยให้หมอให้การรักษาได้รวดเร็ว ทันท่วงที โดยการที่กำลังช่วยกันเผยแพร่ไปสู่การรับรู้ของทีมแพทย์ แล็ป เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยในการตรวจหาโรคต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที ง่ายดาย และราคาไม่แพงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยเรามีความรู้ ความสามารถ ผมและทีมนักวิจัยชุดนี้ตลอดจนความร่วมมือที่ได้รับจากนักวิจัยต่างสถาบันก็อยากให้ชุดทดสอบนี้ได้รับการเผยแพร่และนำไปใช้ได้จริงตามวัตถุประสงค์ของการทำวิจัยเพื่อชุมชน อยากให้สิ่งที่เราคิดค้นเกิดประโยชน์ต่อชีวิตและสุขภาพของคนทั่วไปอย่างเท่าเทียม งานวิจัยนี้ก็ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วซึ่งก็สามารถผลิตได้แล้ว และผมขอบคุณ วช. ที่ได้สนับสนุนงานวิจัยที่ดีมาโดยตลอด”

ทั้งนี้รองศาสตราจารย์โกสุม จันทร์ศิริ นักวิจัยสายตรวจเชื้อโรคและทีมนักวิจัย เคยได้รับรางวัลผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกมาแล้ว โดยการประยุกต์ใช้ความรู้ในเรื่องดีเอ็นเอเซ็นเซอร์พัฒนาชุดทดสอบโรคติดเชื้อต่างๆ ทั้งวัณโรค ตับอักเสบบี ไข้เลือดออกรวมถึงแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหาร ที่มีความพิเศษคือใช้งานง่าย ราคาถูกแต่ประสิทธิภาพสูง ทั้งรู้ผลเร็วและแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก 1 เหรียญทอง  จาก Korea Invention Promotion Association (KIPA) ผลงานเรื่อง “ Dengue virus serotype-specific DNA sensor strip test” “ชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคไวรัสไข้เลือดออกแบบแยกซีโรไทป์ โดยใช้ดีเอ็นเอไบโอเซนเซอร์แบบแถบ”

โดย ไพศาล ขาวสัก / อาชว์ดาม์ ภาคพิธเจริญ / ดร.สุพัตรา อารีกิจ / ดร.ธงชัย แก้วพินิจ / รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล (อธิการบดี มศว) / รองศาตราจารย์ ดร.สุรางรัตน์ ศรีสุรภานนท์ / รองศาตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ ในโครงการการนำผลงานของนักวิจัย / นักประดิษฐ์ไทย เข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติ Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม รวมทั้งยังคว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก เหรียญทอง 1 เหรียญ เหรียญเงิน 1 เหรียญ เหรียญทองแดง 1 เหรียญ และ Special Prize 3 รางวัล โดยกวาด 6 รางวัล จาก 3 ผลงานที่เข้าร่วมแสดงนิทรรศการในงาน “Soul International Invention Fair (SIIF 2015)” ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเร็ว ๆ นี้